การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องสำคัญน่าสนใจคือ แผน “เจ้าพระยา 2” ขยายคลองแถบ บางบาล - เสนา - ผักไห่ -บางไทร “น้ำ” และ “สายน้ำ” เป็นชีวิตของชาวสยามในอดีตที่มีเศรษฐกิจทำนาข้าวเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดรถยนต์ที่ต้องซื้อหาจากต่างประเทศขึ้นมา รัฐให้ความสำคัญกับผลประโยชน์จากรถยนต์และการขนส่งทางถนน มากกว่าการคมนาคมขนส่งทางเรือ ทำให้ “สายน้ำ” จำนวนมากมายทรุดโทรมไปมาก หลายสายเดี๋ยวนี้ใช้เดินเรือไม่ได้เสียแล้ว ปัญหาที่เกิดซ้าซากของประเทสก็คือ ปัญหาน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม สลับกันทั้งปี แผนโครงการแก้ปัญหาก็ถกเถียงกันมานาน แต่ไม่ค่อยคืบหน้า อุปสรรคเกิดจากสองด้าน ด้านที่หนึ่ง คือความคิดชี้นำในการบริหารจัดการปัญหาน้ำ ประเทศไทยมีบทเรียนผิดพลาดไม่น้อยจากการใช้วิธีคิดตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์ตะวันตกล้วน ๆ ไม่ใส่ใจกับมรดกประสบการณ์การจัดการน้ำของชาวบ้านที่เป้นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น อีกด้านหนึ่ง คือการคอร์รัปชัน ที่มักทำให้โครงการดี ๆ กลายเป็นร้าย เพราะถูกโกงงบระมาณไปมาก การประชุม ครม. สัญจรที่อยุธยา มีมติรับแผนคลองระบายน้ำใต้เขื่ยนเจ้าพระยา โดยมีแผนการขยายคลองบางบาลไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทรเป็นเรื่องสำคัญ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ต้นทางจะอยู่ที่ อ.บางบาล มาปลายทางที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีมูลค่าโครงการประมาณ 17,600 ล้านบาท (รวมค่าชดเชยทรัพย์สิน 1,826 ล้านบาทแล้ว) ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 4 แห่ง มีความยาวคลอง 22.4 กม. จะสามารถผันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ท่วมตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงไหลผ่านตัวเมืองอยุธยาจะเป็น “คอขวด” สามารถระบายน้ำได้เพียง 800-1,200 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงอ่างทอง มีศักยภาพระบายน้ำได้ถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที ผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการนี้จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 400,000-800,000 ไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำที่จะท่วมในพื้นที่ลงได้ สามารถเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมรวม 229,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.เมือง-บางบาล-บางไทร-บางปะอิน-ผักไห่-เสนา รวมทั้ง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงของระบบชลประทาน โดยรอบคลองบางบาล-บางไทรได้ 130,000 ไร่ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค (ความจุคลอง 15 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน) และเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองอยุธยา กับมีถนนบนคันคลองเชื่อมโยงระหว่าง อ.บางบาล กับ อ.บางไทรด้วย คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร หรือ เจ้าพระยา 2 ซึ่งรัฐบาลและกรมชลประทานเอง มั่นใจจะต้องมีการเดินหน้าสร้างตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นคลองระบายน้ำเหนือไหลหลาก จากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดมั่นใจว่า หากโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร หรือ เจ้าพระยา 2 แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า น้ำจะไม่ท่วมอยุธยาแน่นอน อย่างไรก็ตาม เรายังห่วงว่า ทางราชการอาจจะขยายคลอง “น้อยเกินไป” ทำทั้งที ทำให้ใหญ่เป็นแม่น้ำเลยดีไหม เพราะเคยมีข่าวเมื่อหฃลายเดือนก่อนบอกว่า จะทำคลองบางบาล “เป็นคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ยาว 12 กิโลเมตร รับน้ำจากเจ้าพระยา อำเภอบางบาล ไปออกเจ้าพระยาเขตอำเภอบางไทร สองฝั่งคลองขุดใหม่จะเป็นถนนทั้งด้าน แบบเดียวกันคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ จากสนามบินสุวรรณภูมิไปออกทะเลที่บางปู สมุทรปราการ" แค่นั้นยังไม่พอหรอก ทำให้เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหญ่เลย คลองบางบาลนั้น เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่า มีเส้นทางน้ำใหญ่ แต่หดเล็กลงเรื่อย ๆ มาหลายร้อยปีแล้ว การขบายคลองนี้ให้ใหญ่ขึ้นอีกมาก ๆ นอกจากจะช่วยระบายน้ำได้มากในหน้าน้ำหลากแล้ว ยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้ปริมากไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง และยังสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่สำคัญได้ด้วย