รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โควิดรอบ 3 พ่นพิษเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารซีไอเอ็มบี คาดโตไม่ถึง 2 % หากคุมแพร่เชื้อไม่อยู่โดยเร็ว ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายวัน ประกอบกับแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสูงจากการเดินทางกลับมาทำงานหลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ จึงมีมาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ ซึ่งน่าจะช่วยให้สถานการณ์กลับมาช่วงก่อนการระบาดรอบ 3 นี้ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายได้ในอีกหนึ่งถึงสองเดือน อย่างไรก็ตามแต่ ในภาวะผู้ติดเชื้อที่จะลดลง สภาพเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่สองก็อาจไม่สดใสอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันโควิดนี้ มีได้หลายช่องทางดังนี้ 1. การเดินทางท่องเที่ยวลดลง กระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและขนส่ง 2. รายได้กลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายลดลง เพราะคนออกนอกบ้านน้อยลง และระมัดระวังการใช้จ่าย กระทบร้านค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และค้าปลีกอื่นๆ 3. ความเชื่อมั่นการบริโภคลดลง กระทบสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (อ้างอิงจาก https://www.posttoday.com/finance-stock/news/650594) “ติดคนรวยซวยคนจน”. ‘โควิดรอบ 3’ เร็ว – แรง รัฐบาลสู่ที่ ‘อโคจร’ ‘เศรษฐกิจ-การเมือง’ ทรุดซ้ำ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องสั่นสะเทือนทุกวงการ (อ้างอิงจาก https://www.matichonweekly.com /column/article_417053 ) เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหม่รอบ 3 ต้นตอจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงชื่อดังย่านทองหล่อ ก่อนแพร่กระจายกันในกลุ่มนักท่องราตรีจากใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ลามพึ่บพั่บไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่และจังหวัดต่าง ๆ เกินครึ่งประเทศ ส่งผลให้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทรงตัวอยู่ในระดับหลักสิบต่อวัน กลับมาพุ่งทะยานขึ้นเป็นหลักร้อย หลักครึ่งพันภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ กระตุกให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องยกระดับเพิ่มมาตรการคุมเข้มเร่งด่วน ป้องกันการแพร่ระบาดหนักช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้บรรยากาศปีใหม่ไทยกร่อยลงไปถนัดตา ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่การระบาดรอบแรกต้นปี 2563 นี่คือผลพวงที่เป็นรูปธรรมสะท้อนจากงานสงกรานต์ที่ผ่านมา...ยังไม่รวมถึง “โรงพยาบาลสนามแบบ ไทย ไทย ” ที่ผุดขึ้นแต่ละจังหวัด โควิดรอบ 3 หรือ Third Wave รัฐบาลยืนยันไม่ล็อกดาวน์ ประชาชนผู้คนยังเดินทางข้ามจังหวัดกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวได้ แต่ก็ยังทิ้งทุ่นเปิดทางให้อำนาจผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด มีอิสระในการตัดสินใจประกาศได้เอง ว่าต้องใช้มาตรการยาแรงระดับใด เพื่อป้องกันพื้นที่จังหวัดของตัวเองไม่ให้เชื้อโควิดเล็ดลอดเข้ามาได้ ผลพวงจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ทำให้ ศบค.สั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด ทั้งหมดในกรุงเทพมหานครศูนย์กลางการแพร่ระบาด และในอีก 40 จังหวัดที่เชื้อแพร่กระจายออกไป อย่างน้อย 14 วัน หรืออาจมากกว่านั้นหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จากโควิดระลอกใหม่ที่ลุกลามรุนแรงรวดเร็ว ซ้ำเติมวิกฤติประเทศทรุดหนักทุกด้าน เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเรื้อรังมานานนับปี ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการห้างร้าน สถานบันเทิง รีสอร์ต โรงแรมที่พัก พนักงานลูกจ้างภาคบริการและการท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างหวังจะลืมตาอ้าปากในช่วงสงกรานต์ กลับต้องมาเจอกับ โควิดรอบ 3 อย่างคาดไม่ถึง แต่ที่แปลกใหม่คือการระบาดรอบนี้ ยังส่งผลสะเทือนต่อ “การเมือง” อย่างรุนแรง จนต้องร้อนตัวถึงผู้บริหารระดับสูงที่พยายามตัดบทเรื่องนี้ไม่ให้บานปลาย สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลโดยรวม กรณีคลัสเตอร์ผับทองหล่อ ก่อให้เกิดคำถามจากสังคมถึงความรับผิดชอบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดทุกรอบจนแทบกระอักเลือด หนีไม่พ้นประชาชนหาเช้ากินค่ำ และผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย รวมถึงยังส่งผลทางการเมือง ที่นอกจากก่อให้เกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ยังกลายเป็นจุดอ่อนให้พรรคฝ่ายค้านนำมาโจมตีถึงการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาดและล้มเหลวของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารจัดการเรื่องการกระจายวัคซีน ที่นอกจากล่าช้า ยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน แผนกระจายการฉีดวัคซีนไม่ชัดเจน นี่คือผลกระทบที่เป็นรูปธรรมจาก “โควิด-19” รอบ 3 ถ้าหากมี “โควิด-19” รอบ 4 อะไรจะเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านคงต้องวิเคราะห์เองละครับ (แต่อย่าให้เกิดขึ้นเลย) เอาให้อยู่นะครับ... “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน !