วันที่ 20 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ บทบรรณาธิการ สยามรัฐ ฉบับนี้ เป็นความพยายามกล่าวถึงแง่มุมความจงรักภักดีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนำบางช่วงบางตอนจาก สยามรัฐรายวันฉบับพิเศษ ตอนที่ 3 “ในหลวง”กับ “คึกฤทธิ์” มานำเสนอดังนี้ “เรื่องส่วนตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะเป็นราชนิกูล ถึงแม้จะเป็น ม.ร.ว.แต่เป็นสายตรงของรัชกาลที่ 4 จึงมีสถานะอาวุโส ได้ถวายงานมากมายในช่วงของรัชกาลที่ 9 ยกตัวอย่าง การจัดเตรียมงานพิธีเสด็จประพาสอเมริกา จะไปพบใคร ให้สัมภาษณ์ตรงไหนม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นคนเตรียมการวางแผนล่วงหน้า และได้เดินทางไปเตรียมงานที่อเมริกาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมากที่อเมริกาและเป็นไวยาวัจกร ตอนที่รัชกาลที่ 9 ทรงผนวชได้รับใช้ใกล้ชิดที่วัดบวรนิเวศฯ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอีกเยอะ เช่น การแต่งบทกลอน ละครถวาย เวลามีงานแสดง ส่วนพระองค์ นอกจากนั้นแล้วก็อย่างที่รู้กันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างสูงความจงรักภักดีนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนผ่านข้อเขียนอยู่แล้วเป็นหน้าที่ที่พวกเราชาวสยามรัฐ เราจะต้องสนองปฏิบัติตามนั้น ต่อมาทุกยุคเราจะมีหนังสือแถมพิเศษที่ทำเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากมาย ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วางไว้ คุณูปการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็คือการอธิบายวัฒนธรรมไทย รอบด้านให้คนเข้าใจได้ง่าย เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกฎหมายเก่า ท่านอธิบายได้ดี เข้าใจง่าย จนมีปัญญาชนหัวสมัยใหม่บางคนไปโทษท่านว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สร้างวัฒนธรรมไทย ทั้งที่ความจริงแล้ววัฒนธรรมมันดำเนินของมันอยู่ แต่ใครจะอธิบายมันได้ดีได้ง่าย ให้เข้าใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายตรงนี้ได้อย่างเป็นระบบ ท่านไม่ได้สร้างแต่มันดำรงอยู่อย่างนั้น ท่านก็มีส่วนในการช่วยรักษา และพัฒนาวัฒนธรรมไทย หากไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดความวุ่นวายสับสนได้ ท่านพยายามอธิบายให้เข้าใจความหมาย ของสิ่งที่เกิดขึ้นว่ารากเหง้ามันเป็นอย่างไร อย่างการฟื้นฟูพระราชพิธีแรกนาขวัญ อันนี้เป็นกำลังใจของชาวนามาก พระองค์ท่านยังคิดพันธุ์ข้าวที่ดีมาแจกชาวนา ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ได้ก่อตั้ง สถาบันไทยคดีศึกษาและหลักสูตรให้นักศึกษาปี 1 ต้องเรียนวิชาวัฒนธรรมไทย ท่านเป็นคนวางหลักสูตรและใครหลายคนมาช่วยกันเขียนทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 1ได้เรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรมไทย ต่อยอดมาเป็นโขนธรรมศาสตร์ และต่อยอดมาเป็นการพัฒนาการศึกษาวิจัยค้นคว้าไทยศึกษาของธรรมศาสตร์มาจนทุกวันนี้” (บทสัมภาษณ์ ทองแถม นาถจำนง อดีตบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน สยามรัฐรายวันฉบับพิเศษ ตอนที่ 3 “ในหลวง”กับ “คึกฤทธิ์” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร เสด็จสวรรคตผ่านครบ 1 ปี หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับพิเศษ จำนวน 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 ตุลาคม 2560 เพื่อร่วมถวายความอาลัย )