การประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติปีนี้ แม้จะมีประเด็นปัญหาที่สำคัญต่อโลก แต่คงไม่มีผลในทางปฏิบัติที่จะส่งผลกระทบถึงประเทศจำนวนมาก ประเทศที่ถูกกระทบมากก็คงจะมีเพียงประเทศ “เจ้าปัญหา” อยู่แล้ว ได้แก่ เกาหลีเหนือ , อิหร่าน และเมียนมาร์กับเพื่อนบ้านข้างเคียงเช่นไทย
บทบาทของสหประชาชาตินั้นมันหดน้อยลงเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายแนวคิดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ไม่ค่อยจะตรงกับแนวทางของสมัชชาสหประชาชาติ และก็ยังขู่เป็นระยะ ๆ ว่าจะตัดทอนเงินสนับสนุนองค์การสหประชาชาติลงอีก
สหรัฐอเมริกาเป็นนายทุนใหญ่ขององค์การสหประชาชาติจริง ๆ ถ้าสหรัฐไม่ควักกระเป๋าจ่าย องค์การสหประชาชาติก็คงกลายเป็นอัมพาตไป และการที่ผู้นำสูงสุดของประเทศสำคัญของโลก อย่าง เยอรมนี , จีน , รัสเซีย ไม่ไปประชุมที่นิวยอร์ค มันก็บ่งชี้อะไรบางอย่างเหมือนกัน อย่างน้อยที่สุดก็บอกนัยว่า การประชุมนี้จะไม่ได้ผลสรุปอะไรที่มีความหมายชี้ขาดต่อโลก
เวทีนี้ก็คงจะใช้เป็นเวทีวิพากย์โจมตี ผู้นำประเทศเกาหลีเหนือ อิหร่าน และเมียนมาร์ เท่านั้นเองซึ่งกล่าวสำหรับสามประเทศนี้ ก็ได้เคยถูกทั่วโลกแซงชั่นต่อต้านมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่เขาก็ยังดำรงรักษาความมั่นคงของประเทศไว้ได้
คำวิพากย์วิจารณ์เกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น สื่อมวลชนไทยพูดตามสื่อตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว และสองประเทศนี้ก็ห่างไกลจากอาเซียน จึงไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทยนัก
แต่สำหรับเรื่องในเมียนมาร์ขณะนี้นั้นอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทยได้มาก จึงต้องใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบ
จุดแรกที่อยากให้หยุดคิดกันคือ ปัญหาระหว่างคนโรฮิงญา (อิสลาม) กับคนยะไข่ (พุทธ) นั้นมีมานานเป็นหลักร้อยปีแล้ว มีบางช่วงรุนแรง แต่ก็ไม่ยืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกระทันหันอย่างเช่นคราวนี้
เมื่อมองปัญหาให้ใหญ่ขึ้น มันก็มีปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และเรื่องสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็นรอบใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องชัดเจน การขนส่งทางทะเลจากมหาสมุทรอินเดียไปมหาสมุทรแปซิฟิคในขณะนี้นั้น การจราจรผ่านช่องแคบมะละกามันตึงเครียดเต็มที่แล้ว ไม่อาจจะเพิ่มขยายการจราจรให้มากขึ้นได้อีก ยกตัวอย่างกรณีเรือชนกันถึงสองครั้งในหนึ่งเดือน และการเดินเรือในช่องแคบมะละกานี้ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาพันธมิตรของอเมริกา ถ้าปิดกั้นทะเลช่วงนี้ไม่ให้จีนผ่าน จีนก็แย่แน่นอน ยุทธศาสตร์ของจีนจึงมุ่งออกทะเลทางเมียนมาร์
นอกจากนั้นยังหวังใช้แหล่งพลังงาน เช่นแหล่งแก๊ซธรรมชาติ “ตันฉ่วย” นอกชายฝั่งของยะไข่ด้วย การสร้างความจลาจลในยะไข่ ก็เท่ากับสกัดกั้นท่าเรือและแหล่งแก๊ซธรรมชาติของจีนมิให้คืบหน้าจนสำเร็จได้
นอกจากนั้นแล้ว ความขัดแย้งถึงขั้นเกิดความรุนแรงระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับรัฐบาลชาวพุทธเมียนมาร์ ยังจะเป็นการตอกลิ่มให้เกิดการแตกสามัคคีภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนได้อีกด้วย
เราเคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่า ในอนาคตข้างหน้าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจจะถึงขั้นเกิดสงครามตัวแทนขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน
ปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาจึงสลับซับซ้อน ไม่อาจใช้อารมณ์ด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียวมากำหนดยุทธศาสตร์ของชาติไทย