การเมืองไม่มีว่างเว้น อยู่ในโหมดที่เปิดทางให้ แต่ละฝ่ายได้หยุดพักหายใจยาวๆ ยิ่งสำหรับ "พรรคพลังประชารัฐ" ด้วยแล้วต้องยอมรับว่าบรรยากาศทั้งในพรรคไปจนถึงการรับมือกับ "3พรรคร่วมรัฐบาล"ที่หยิบเอา "เกมแก้รัฐธรรมนูญ" ขึ้นมา "บีบ" กันรอบใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ง่ายนัก !
สัญญาณที่ส่งตรงมาจาก "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว สงกรานต์ที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าบัดนี้ พลังประชารัฐ ซึ่งมี "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค จำต้อง "บริหารจัดการ" กับ "ความขัดแย้ง" ที่กำลังปะทุขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วย "นักการเมือง ส." มีตำแหน่งทางการเมือง ในกระทรวงยุติธรรม ส่งคนไปสอบแทน หลักสูตรภาษาอังกฤษ ระดับปริญญาเอกของสถาบันแห่งหนึ่ง
คราวแรก หอก ดาบ พุ่งตรงไปที่ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จนเจ้าตัวต้องปฏิเสธเสียงแข็ง ว่าไม่ใช่ และไม่เคยเรียนปริญญาเอกและไม่ได้ติดต่อประสานกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยดังกล่าว
นอกจากนี้สมศักดิ์ ยังทิ้งท้ายตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่รู้ว่าทำไมจึงมีข่าวในลักษณะนี้ออกมา จะเกี่ยวกับ การที่เอาข่าวออกมาในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวกับกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะกำลังจะมีการประชุมพรรคในอีกไม่นานนี้
ซึ่งแน่นอนว่าไฮไลต์การประชุมพรรคพลังประชารัฐรอบนี้คือการเสนอให้เปลี่ยนตัว "เลขาธิการพรรค"คนใหม่ จาก "อนุชา นาคาศัย" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นคนอื่น !
จนมีรายงานว่า ในฐานะที่อนุชา คือ "มือขวา" ของสมศักดิ์ ดังนั้นฝ่ายหลังจึงตั้ง "กลุ่ม 4 ว." ขึ้นมา ประกอบด้วย สมศักดิ์ , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม , อนุชา และ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน โดยมีข่าวว่า สมศักดิ์ จะเสนอตัวขึ้นชิงเก้าอี้ กับ "กลุ่ม 4 ช." ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐมนตรีช่วยฯ ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ , สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ,อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน โดยกลุ่ม 4 ช. จะผลักดัน ร.อ.ธรรมนัส ชิงเก้าอี้
ต่อมาดูเหมือนว่าศึกครั้งนี้ ต้อง "สงบชั่วคราว" เมื่อพล.อ.ประวิตร สั่งให้เลื่อนการประชุมพรรคออกไปเพื่อเลี่ยงไวรัสโควิด
แม้ประเด็นที่ว่าด้วย นักการเมือง ส. จะได้รับการปฏิเสธ จาก "สามารถ เจนชัยจิตรวนิช" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ถัดมาอีกไม่กี่วัน ว่าเขาเองไม่มีพฤติกรรมที่ว่านั้นแน่นอน แต่สิ่งที่กำลังสะท้อนออกมาคือความบาดหมางภายในพรรคพลังประชารัฐ เพราะใช่ว่า เรื่องนี้จะเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อไพบูลย์ ซึ่งเป็น "สายตรง" บิ๊กป้อม บอกว่าจะเริ่มดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวในสัปดาห์นี้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะส่งไปยังพล.อ.ประวิตร ต่อไป
ความวุ่นวายภายในพรรค ระหว่างกลุ่มก๊วนการเมือง ยังเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ยังไม่มีดึงสลักออก ปรากฎว่าในห้วงเวลาเดียวกัน "3 พรรคร่วม" พากันเปิดเกม "งัดข้อ" พรรคแกนนำ ด้วยการประกาศ "จับมือ" กันเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
สาระสำคัญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล อันประกอบด้วย "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา" พุ่งเป้าไปที่การ "เปลี่ยนตัวนายกฯ" ปิดทาง ตัดตอนไม่ให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็น นายกฯ สมัยที่สาม ด้วยการชงตัดอำนาจ "250 ส.ว." เลือกนายกฯ สงวนสิทธิ์เอาไว้ให้กับ ส.ส.เพียงสภาฯเดียว พร้อมทั้ง เจาะจงให้คนที่เป็นนายกฯ จะต้องเป็นส.ส.เท่านั้น !
เมื่อ 3 พรรคร่วม เปิดเกม "บีบ" พรรคพลังประชารัฐ เช่นนี้ เท่ากับว่าเป็นการเปิดทาง เปิดโอกาสให้กับ "ทุกพรรค" ส่งแคนดิเดตเข้ามาชิง เก้าอี้นายกฯ
ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ "แก้เกม" ด้วยการเสนอประเด็นที่คาดว่า จะได้รับการยอมรับจาก ส.ส. ของทุกพรรค ด้วยการออกมา "ขานรับ" ข้อเสนอจากฝ่ายค้านที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งด้วย "บัตร 2 ใบ" ว่าไม่น่าจะมีปัญหา รวมทั้งยัง "ดักคอ" 3 พรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า อะไรที่ไปตัดสิทธิ์ เชื่อว่าไม่มีทางที่ ส.ว.จะเห็นด้วย
แม้ในเวลานี้การประชุมรัฐสภาเพื่อเริ่มนับหนึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ และยังอาจต้องเลื่อนยาวออกไปหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังวิกฤติ แต่ใช่ว่าปฏิบัติการ "บีบ" พรรคใหญ่ อย่างพลังประชารัฐ จะต้องเว้นว่าง เว้นวรรคไปด้วย !