ไม่แปลกเลยที่ระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย หลังสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดจะทะลุไปถึง 14 ล้านล้านบาท ที่นับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ด้วยปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แม้เราจะไม่ได้ยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเหมือนกับการระบาดในระลอกแรก และผ่อนปรนในหลายมาตรการก็ตาม
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งสะท้อนว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพีในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อจีดีพีในปี 2563 ซึ่งตอกย้ำว่า ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
ก่อนหน้านี้ในงานเสวนาออนไลน์ Chula Econ Forum โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “จับตาเศรษฐกิจไทย ปี 2564” นายวศิน โรจยารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าแบงก์ชาติพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนโดวิด เช่น คลินิกแก้หนี้ การกำหนดเกณฑ์ LTV แต่เมื่อประสบวิกฤติครั้งนี้ จำเป็นต้องยอมให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ธุรกิจและครัวเรือนอยู่รอดต่อไป
ขณะนี้มาตรการพักชำระหนี้ที่ไกลสุดคือไปจนถึงกลางปี 2564 ลูกหนี้ที่ขอผ่อนผันประมาณ 70% กลับมาชำระได้แล้ว การพักชำระหนี้เป็นการซื้อเวลาชั่วคราว การฟื้นตัวไม่ได้ฟื้นเท่ากันทุกคน บางรายที่ยังเจ็บไปอีกนานโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวอาจต้องได้รับการช่วยเหลือแบบปรับโครงสร้างหนี้แทน สำหรับซอฟท์โลนที่ปล่อยออกไปได้ไม่มาก คาดว่าในปีหน้าผู้ประการจะต้องการสภาพคล่องเพื่อกลับมาลงทุน จึงได้มีการปรับเกณฑ์เพื่อให้เงินส่วนนี้เข้าสู่ระบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการเยียวยา ทั้งพักชำระหนี้ต่างๆของธนาคาร โครงการของรัฐที่ออกมาเสริมสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง ซึ่งถือว่าโครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” “ เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน”เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่จะมีระยะ 3 หรือ เฟส 3 ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจ ถูกโจมตีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ สายพันธุ์อังกฤษ ที่ติดง่ายกระจายเร็ว ก็ทำให้น่าห่วงว่า จะเพียงพอหรือไม่ และอาจต้องออกมาตรการเข้ามาเสริมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มเติม หรือไม่อย่างไร
ซึ่งน่าคิดว่าในวันที่โครงการเหล่านี้สิ้นสุด แต่สถานการณ์โควิดยังไม่จบ ภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนจะอยู่ในระดับใด จะทับถมไปกว่าเดิมหรือไม่ และเมื่อประชาชนมีรายได้น้อย เก็บภาษีได้น้อยย่อมกระทบต่อเม็ดเงินของรัฐ การมองหารายได้จากแหล่งอื่นที่นอกจากการจัดเก็บภาษี และหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ อาจเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างจริงจัง เพื่อให้ยืนหยัดได้ในระยะยาว