สมบัติ ภู่กาญจน์ เข้าพรรษามาแล้วหนึ่งสัปดาห์ เรามา ‘คิดและพิจารณา’ ถึงเรื่องของพุทธศาสนากันหน่อยดีไหมครับ? ในฐานะที่ ‘ศาสนา’มีส่วนสัมพันธ์กับ‘ชีวิต’ และชีวิตหลายๆชีวิต ก็รวมกันเป็น‘สังคม’ ห้อมล้อมตัวตนของคนทุกคนอยู่ในปัจจุบัน พุทธศาสนาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อยกับ ชีวิตและการเมืองไทย ที่คนในสังคมควรต้องคิดถึงและพิจารณาถึงกันให้ดีๆ ทุกวันนี้ เรามีการพูดถึงพุทธศาสนากันอยู่มาก และในความมากนั้นก็มีสิ่งที่น่าวิตก คือ บางทรรศนะมองเห็นพุทธศาสนาในภาพที่ไม่ค่อยจะเป็นบวก จนมีความรู้สึกค่อนข้างไม่ดีบางอย่างเกิดขึ้น ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลบ ต่อพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป ผมจึงอยากชวนเชิญให้ท่านผู้อ่าน‘คิด’ครับ คิดที่จะเรียนให้รู้จักพุทธศาสนาในส่วนที่ถูกต้องเป็นจริงให้ใกขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า เรื่องของพุทธศาสนานั้นก็เป็นเรื่องๆหนึ่ง เรื่องพฤติกรรมของบุคคลบางกลุ่มบางเหล่านั้นก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง และเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลของคนอีกบางกลุ่มบางเหล่านั่นก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแต่ละเรื่องแตกต่างกัน มีที่มาที่ไปและที่จะเป็นต่อไปในวันหน้าไม่เหมือนกัน และก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เทศกาลเข้าพรรษา จึงไม่ควรถูกจำกัดให้เป็นแค่เรื่องที่จะต้องเข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน หรือฟังพระเทศน์อย่างเดียวเท่านั้น แต่เทศกาลเข้าพรรษาสามารถจะใช้เป็นโอกาส ที่เราควรจะทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจในสาระของพุทธศาสนากันด้วย เพื่อที่จะให้เกิดความ‘คิดและพิจารณา’กันว่า เมื่อเราได้รู้จักและเข้าใจได้มากขึ้นแล้ว ถ้าเราจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เราควรจะทำอย่างไรกันดี? ศาสนาพุทธมีคำสอนที่แจ้งชัดในเรื่องการคิดและพิจารณาก่อนเชื่อถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อยู่ในพระสูตรที่มีชื่อว่า ‘กาลามสูตร’ ซึ่งคำสอนดังกล่าวนี้ คนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนามาก่อน ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจแล้ว หลายคนตื่นเต้นเลื่อมใสมาก แต่คนที่เกิดมาในสังคมที่พ่อแม่นับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ กลับไม่ค่อยใส่ใจในคำสอนนี้มากนัก เพราะถูกครอบงำด้วยคำสอนอื่นมากกว่า เป็นต้นว่าคำสอนเรื่องทำบุญแล้วจะได้ผลดี ชีวิตที่มีทุกข์ก็เพราะสร้างกรรมมาแต่อดีตต้องทำบุญในชาตินี้ทดแทนให้มากๆ ความสุขจึงจะเกิด ฯลฯ ซึ่งคำสอนเหล่านี้จะต้องถือว่าเป็นพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อถือของคนในบางกลุ่มขึ้นอีก อันไม่ใช่เรื่องที่เป็นแก่นแท้หรือสาระที่แท้จริงของพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันออกไป เราจะเรียนรู้ และทำความเข้าใจ เรื่องของพุทธศาสนา กันในแนวทางนี้นะครับ ซึ่งผมขอเริ่ม ด้วยการให้ท่านผู้อ่าน ได้โปรดอ่านข้อความดังต่อไปนี้ ประเทศไทยในยุคนี้ เป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นมาก และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาที่กำลังทำกันอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นการทำความเจริญทางวัตถุให้เกิดขึ้นเป็นส่วนมาก และความเจริญทางวัตถุ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในวิธีทำมาหากินของประชาชนนั้น ย่อมจะต้องมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางใจขึ้นอย่างกว้างขวาง คุณค่าต่างๆทางใจนั้นย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับความคิดนี้หรือไม่? ถ้าเห็นด้วย กรุณาอ่านข้อความนี้ต่อไป ความรู้สึกที่เคยมีมาแต่ก่อนว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไป ปัญหาทางสังคมส่วนใหญ่ในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของการเบียดเบียน การเห็นแก่ตัว การเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์อันเป็นวิธีการโดยตรง เรื่อยไปจนถึงวิธีการอันอ้อมค้อม เช่นการคดโกงทุจริต และการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ปัญหาทั้งหมดนี้ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาบางคน คงอยากหาวิธีแก้ไขทางพระพุทธศาสนา และหากว่าพระพุทธศาสนา ไม่มีพลังอำนาจทางใจคน ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดจนไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งทางใจของผู้สุจริตได้ในยุคนี้แล้ว ศรัทธาของคนไทยในพระพุทธศาสนาก็อาจหย่อนลงได้ ทั้งในยุคนี้และในยุคต่อไป ผลแห่งการเสื่อมศรัทธานี้จะยิ่งทำให้ปัญหาทางสังคมต่างๆเกิดมากขึ้น เพราะคนที่หย่อนในศรัทธาทางศาสนานั้นย่อมจะทำชั่วได้ง่ายขึ้นหรือมากขึ้น การส่งเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่เมื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นศรัทธาอันประกอบด้วยเหตุผล การส่งเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมเหตุผลด้วย เพราะศรัทธาอันมีแต่ความเชื่อถือโดยไม่ถามเหตุและไม่รู้ผลนั้น อาจจะเกิดผลดีได้บ้างก็คงชั่วครู่ชั่วคราว แต่ก็อาจเป็นเครื่องทำลายพระพุทธศาสนานั้นเองได้ในที่สุด แต่ก่อนที่จะพิจารณาว่า พระพุทธศาสนาจะมีบทบาทอย่างไร หรือจะทำอะไรได้บ้างในสังคมปัจจุบันนี้ ก็น่าจะต้องพิจารณาพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักการและศีลธรรมกันเสียก่อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร ในความเป็นจริงในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับความคิดเหล่านี้ไหมครับ และท่านเชื่อหรือไม่ว่า ข้อความที่ผมนำมาอ้างถึงไว้นี้ เป็นข้อเขียนที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนไว้นานตั้งแต่เกือบห้าสิบปีมาแล้ว ซึ่งข้อเขียนและแนวคิดเหล่านั้น กลับมาอ่านอีกครั้งในวันนี้ ทุกอย่างยังเป็นสิ่งที่ควรรู้ และไม่มีส่วนใดที่ล้าสมัยเลยในสังคมไทยวันนี้ ที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพสังคมกับความรู้ความเข้าใจด้านพุทธศาสนา ที่ยังมีความน่าห่วงอยู่มากมายในปัจจุบัน... ผมจะนำความคิดของอาจารย์คึกฤทธิ์มาเสนอ พร้อมกับเพิ่มเติมทรรศนะในการมองพระพุทธศาสนาของผู้มีปัญญาร่วมสมัยในยุคต่อๆมา รวมเข้าไปอีก ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะก่อ‘ปัญญา’ให้เกิดมีมากขึ้น ในยุคปัจจุบันของสังคมไทย อันเป็นสังคมที่การเปลี่ยนแปลง(คือภาวะอนิจจัง) กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความไม่รู้หรือความรู้ที่ไม่จริง(คือภาวะอวิชชา)อันเป็นตัวการที่จะก่อให้เกิดปัญหา(คือภาวะแห่งทุกข์)ก็นับวันมีแต่จะสูงขึ้นและเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ๆ ‘ปัญญา’ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเพิ่มคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์, ผมจึงอยากให้เรา คิด-พิจารณา-และพยายามเรียนรู้ที่จะสร้างปัญญาให้มากกว่าอารมณ์กันเข้าไว้... อย่างน้อยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ผลของประชามติจะทรงคุณค่ามากขึ้น ถ้าคนไทยส่วนใหญ่จะไปออกเสียงด้วยการใช้สติและปัญญาของเราเองครับ