วันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว แม้หลายคนอาจลางานต่ออีก 1 วันเพื่อที่จะได้หยุดยาวช่วงรอยต่อเสาร์-อาทิตย์ ทำให้บางส่วนยังไม่ได้กลับมาเริ่มต้นทำงานกันอย่างเต็มที่ ขณะที่บางองค์กรก็ถือโอกาสให้พนักงานทำงานที่บ้าน อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและในหลายจังหวัด
แถมการระบาดระลอกนี้ เป็นการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง พบปะผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะแวดวงการเมือง ระดับรัฐมนตรีทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์หลังสงกรานต์ ที่มีการเดินทางข้ามพื้นที่ สถานการณ์อาจวิกฤติกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไทยเริ่มจะมีความหวังว่าวิกฤติจะคลี่คลาย ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มสูบ และเดินหน้าเปิดประเทศ เมื่อมีการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด กระนั้น ก็ดูเหมือนว่า มีความเสี่ยงที่ฝันอาจสะดุด
ย้อนไปดูรายงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่24มีนาคม2564 ประเมินเศรษฐกิจไทยว่า ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดย กนง.ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ไม่รุนแรงกับการระบาดครั้งก่อน เนื่องจากภาครัฐดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่ากับปีที่ผ่านมา และเร่งออกมาตรการการคลังเพิ่มเติมได้เร็ว
โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยในปี2564อยู่ที่3%และปี2565อยู่ที่4.7%จากปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงตามการทยอยเปิดประเทศของไทยที่ล่าช้ากว่าที่คาด รวมถึงนโยบายจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เข้มงวด โดยเฉพาะจีน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐในปี2565ที่ปรับลดลงมากขึ้นตามงบประมาณปี2565ที่ลดลงตามประมาณการรายได้รัฐบาล และการโอนเงินบางส่วนภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อไปใช้ในแผนเยียวยาในปีนี้ขณะที่ปัจจัยบวกที่ยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ทั้งนี้มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19แรงกระตุ้นจากภาครัฐที่อาจจะน้อยกว่าคาด ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจจะสูงขึ้นมาก ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าว เป็นการประเมินก่อนหน้าที่จะเกิด "คลัสเตอร์ทองหล่อ" ซึ่งสถานการณ์ในวันนี้ อาจจะต้องประเมินกันใหม่อีกครั้งหรือไม่ ถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ในขณะที่ประชาชนยังได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึงทำให้เกิดความกังวล ในขณะที่ผลกระทบจากการยกระดับมาตรการ จำกัดกิจกรรมและกิจกรรมเที่ยวนี้ จะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก จึงคาดหวังว่าเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาจะช่วยกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจไทยได้ทัน