รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “วันหยุด” วันที่หลายคนรอคอย ! ทั้งเพื่อความสนุกสนาน การพบปะญาติพี่น้อง การได้พักผ่อน โดยเฉพาะวันหยุดพิเศษที่ไม่ใช่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ นั่นคือ “ความสุข” ที่เกิดจากวันหยุดก่อนที่โควิด-19 ระบาด ถ้ามอง ผลสำรวจถึง “พฤติกรรมคนไทยกับวันหยุด” ที่อ้างอิงมาจาก https://www.posttoday.com/life/healthy/515820 มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้ ผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ถึง 86% เฝ้ารอวันหยุดยาวครั้งต่อไปอย่างมาก และจำนวนกว่า 74% มั่นใจว่ามีการวางแผนจะใช้ช่วงวันหยุดได้อย่างดีแล้ว แต่ปรากฏว่าคนไทยมากกว่า 3 ใน 4 หรือคิดเป็น 82% รู้สึกเสียดายว่าถ้ามีการวางแผนที่ดีกว่าเดิม จะสามารถใช้วันหยุดที่ผ่านมาได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น และจำนวนถึง 1 ใน 2 เสียวันหยุดไปเปล่าๆเฉลี่ย 4 วันต่อปี "คนไทยมากกว่า 66% รอใช้วันหยุดพักร้อนที่ผลัดไปในปีหน้าหรือไม่ก็ยอมสูญเสียสิทธินี้ไปเลย โดยเหตุผลหลักที่คนไทยไม่ได้ใช้วันหยุดพักร้อนอย่างเต็มที่ เกิดจากทั้งตารางงานและหน้าที่ความรับผิดชอบที่รุมเร้ากว่า 76% และจากเหตุผลของตารางงานที่ไม่ตรงกับคนที่จะเดินทางด้วยอีกกว่า 40% นอกจากนี้ ยังมีอีก 14% ที่ระบุว่า การวางแผนวันหยุดเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องล้มเลิกไปในที่สุด" ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยถึง 62% ยังยอมรับด้วยว่าต้องเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ตัวเองไม่ได้สนใจเลย เพียงเพราะให้คนอื่นช่วยวางแผนการท่องเที่ยวให้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคนไทยมากถึง 31% ที่กลัวการต้องวางแผนวันหยุดอย่างจริงจัง ส่วนอีก 22% เกลียดการวางแผนและพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด และอีก 35% โปรดปรานการวางแผนวันหยุดในเวลางาน ทว่า คนไทย 96% ยอมรับว่าการช่วยกันวางแผนวันหยุดหลาย ๆ คนจะทำให้ทำตามแผนได้มากกว่าและทุกคนสามารถใช้เวลาร่วมกันได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น ลองมาดูข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่สำรวจความคิดเห็นการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ (เป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้าง ไปเช้า-เย็นกลับ และที่เดินทางไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัดและมีการท่องเที่ยว) ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ของตลาดไทยเที่ยวไทย โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน เพื่อสะท้อนมุมมองและความรู้สึกต่อสถานการณ์โควิดและการเดินทางท่องเที่ยว จากผลสำรวจการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดของคนกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ สะท้อนภาพบรรยากาศการเดินทางที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมก็นับว่ายังต่ำกว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนเกิดการระบาดของโควิด (นี่เป็นการเก็บข้อมูลก่อนการระบาดรอบ 3 เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 ก่อนสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน) กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีแผนเดินทางต่างจังหวัดยังมีสัดส่วนสูงหรือคิดเป็นประมาณ 40.1% (จากผลการสำรวจการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิดระลอกใหม่ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดคิดเป็น 39.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (อ้างอิงจากhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930031) ถ้าจะให้ได้ข้อมูลครบทุกมิติ ท่านผู้อ่านลองติดตามข้อมูลสด ๆ ของ “สวนดุสิตโพล”ที่สำรวจวันหยุดของคนไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 1,447 คน ระหว่างวันที่ 6-15 เมษายน 2564 จะเจาะให้เห็นทั้งเทศกาลวันหยุด “ยอดนิยม” “กิจกรรมที่ทำ” รวมไปถึง “ข้อดี”/“ข้อเสีย” ของวันหยุด โดยเฉพาะมีข้อมูลผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ “วันหยุดของคนไทย” ที่คิดว่ามีมากเกินไป อย่าลืมติดตามนะครับ (วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ! )