ทองแถม นาถจำนง ได้เขียนถึง เรื่อง “วันปีใหม่และพระราชพิธีตรุษสงกรานต์” ไว้ในบทบรรณาธิการสยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2557 ดังจะนำมาถ่ายทอดดังนี้ “วันปีใหม่สากล (1 มกราคม) และวันสงกรานต์ ชาวไทยเฉลิมฉลองกันเต็มที่แต่ชาวไทยส่วนหนึ่งก็ไม่ทราบประวัติและความเปลี่ยนแปลงของวันเหล่านั้น
ก่อนหน้า พ.ศ 2432 ชาวไทยนับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่
พ.ศ 2432 ร.5 ตั้งรัตนโกสินทรศก ถือเอาวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่
พ.ศ 2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของประเทศ จากวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 1 มกราคมตามสากล ดังนั้นใน พ.ศ 2483 ประเทศไทยจึงมีแค่ 9 เดือน นับตั้งแต่ 1 เมษายนจนถึง 31 ธันวาคม
ในสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 รัฐไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกสากล จึงจำเป็นต้องใช้ระบบปฏิทินฝรั่ง เดิมทีการนับวันสงกรานต์นั้นใช้ปฏิทินจันทรคติ ระบบจุลศักราช ร่องรอยต่อตรงนี้ออกจะสับสนสำหรับท่านที่มิได้สนใจศึกษามาก่อน
เดือนห้า(ไทย) ในสมัยอยุธยา มีพระราชพิธีถึง 3 พิธี ได้แก่ พระราชพิธีตรุษ (สิ้นปี), พระราชพิธีศรีสัจจปาน และพระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ แต่ในรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้รวมเข้าเป็นพระราชพิธีอันเดียวกันเรียกว่า "พระราชพิธีตรุษมหาสงกรานต์"
“ตรุษ” ความหมายของคำว่า “ตรุษ”
คำว่าตรุศนั้น ท่านผู้รู้ว่าน่าจะมาจากคำว่า ตฺรฏิ หรือ ตฺรุฏ ซึ่งแปลว่าตัดปี คือสิ้นปีเก่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนจาก ตรุศ มาเป็น ตรุษอย่างทุกวันนี้ ซึ่งในพจนานุกรมให้อ่านได้สองอย่าง คืออ่านว่า ตะรุสะ หรือ ตรุด แล้วอธิบายว่า นักษัตฤกษ์เมื่อเวลาสิ้นปี
ตะรุสะหรือตรุษ แปลว่า ยินดี ความหมายตรงกันข้าม ความยินดีควรจะเป็นเรื่องขึ้นปีใหม่ คือสงกรานต์มากกว่า หรือจะหมายความว่ายินดีที่ผ่านไปอีกปีโดยเรียบร้อยก็ได้อีกเหมือนกัน รวมความว่าถ้าใช้ตรุษสงกรานต์ ก็หมายถึงยินดีได้ แต่ถ้าใช้ตรุศก็เป็นเรื่องของการตัดปี
แล้วต้นตอของวันตรุษมาจากไหน
ต้นเดิมของตรุษไทยจะมาจากไหนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “พิธีตรุษเดิมเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ของพวกอินเดียข้างฝ่ายใต้ เมื่อพวกทมิฬได้ครองเมืองลังกา เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมืองเป็นมูลเหตุที่จะมีพิธีตรุษในลังกาทวีปครั้นถึงสมัย
ชาวลังกาพวกถือพระพุทธศาสนากลับได้เป็นใหญ่ในเมืองลังกาชะรอยจะเห็นพวก ลังกาเชื่อถือสวัสดิมงคลของพิธีตรุษอยู่มาก ไม่อาจเลิกพิธีนั้น จึงคิดเปลี่ยนแปลง กระบวนทำพิธี แก้ไขให้มาเป็นพิธีทางคติพระพุทธศาสนา แล้วทำพิธีตรุษ ต่อมาในลังกาทวีป ไทยเราได้ตำราที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตามพิธีตรุษจึงมามีขึ้นในเมืองไทย"
พิธีตรุษนั้น มีการสระสรงทำความสะอาดพระพุทธรูปแล้วถวายพุ่มข้าวบิณฑ์
อย่างไรก็ตาม พิธีตรุษนี้ทำเฉพาะที่ราชธานี เป็นประเพณีของราชสำนักชาวบ้านไม่เกี่ยว ที่ยกมาเล่าเพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ตรุษ” เพราะมีคนใช้คำว่า “ตรุษสงกรานต์” อยู่มาก
ประเพณีสิ้นปี-ปีใหม่ในราชสำนักมีพระราชพิธีถึงสามพิธี คือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ตรุษ) ทำตั้งแต่แรม 11 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ สิ้นปีเป็นที่สุด
พระราชพิธีศรีสัจจปาน ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทำตั้งแต่เดือนห้า ขึ้น 2 ค่ำถึง 3 ค่ำ
พระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ (กำหนดตามสุริยคติ แล้วแต่พระอาทิตย์จะยกขึ้นราศีเมษในวันใด วันนั้นก็เป็นวันมหาสงกรานต์)
ร.6 ทรงรวมพระราชพิธีทั้งสาม แล้วเรียกว่า "พระราชพิธีตรุษสงกรานต์"เริ่มทำวันที่ 28 มีนาคมถึงวันที่ 30 มีนาคม ตอนหนึ่ง และตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน ตอนหนึ่ง
ตรุษสงกรานต์-ประเพณีหลวง จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ การสาดน้ำ การจุดบั้งไฟ ของชาวบ้าน”