สมบัติ ภู่กาญจน์ ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ผมชวนเชิญให้ท่านผู้อ่าน ‘เงยหน้า’ ขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่ด้วยเจตนาที่จะ ‘ต่อต้าน’หรือ‘ขัดขวาง’การก้มหน้าดูจอสี่เหลี่ยม(ข้างตัวหรือประจำกาย) ที่คนส่วนใหญ่กำลังใช้หรือชินกับมันอยู่ ในโลกยุคปัจจุบัน แต่ผมชวนด้วยเจตนาที่จะ ‘เตือนสติ’ ให้คนที่กำลังชื่นชอบหรือเคยชินกับพฤติการณ์นี้ ว่า พยายามใช้มันอย่าง ‘ยับยั้งชั่งใจ’กันบ้าง อย่าปล่อยใจให้กับมันจนเกิดความ‘ติด’ เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที ถ้ามนุษย์จะเสพมันจนติดแล้ว การเสพติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น มันจะแย่ง‘เวลา’ที่มนุษย์พึงมีให้กับพฤติการณ์หรือพฤติกรรมอื่นๆของมนุษย์ ซึ่งก็มีความจำเป็นหรือเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ด้วย ให้ลดน้อยถอยไป และนอกจากแย่งเวลาแล้ว มันยังแย่งเงินด้วย! เพราะอาการเสพจอติดทุกวันนี้ แม้ว่าการดูบางอย่างเราไม่ต้องเสียเงินก็จริงอยู่ แต่วัสดุอุปกรณ์ที่เราใช้ดู นั้น เรามิได้ได้มาฟรีๆ แต่ต้องใช้เงินซื้อหาเอามา และเพื่อตอบสนองการดูของเราให้เป็นที่ ‘ถูกใจ’มากขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ผลิตก็ยิ่งจะต้องขวนขวายพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ตอบสนองความต้องการ(อย่างไม่มีที่สิ้นสุด)ของมนุษย์มากขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับราคาของสิ่งนั้น ก็จะต้องสูงตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน ทั้งเวลา ที่มนุษย์จะต้องถูกแย่งไป จากการศึกษาเรียนรู้สิ่งอื่นๆที่ยังมีอีกมากในสังคมหรือในโลก และทั้งเงินที่มนุษย์จะต้องใช้มากขึ้นๆ เพื่อสรรหาเครื่องมือเครื่องใช้ให้สนองอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการเพิ่ม ‘จุดอ่อน’ของคนไทยยุคใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวัน และทุกวัน ผมจึงอยากเตือนสติให้ท่านผู้อ่าน ได้โปรดช่วยเงยหน้าขึ้นพิจารณาพฤติกรรมหรือพฤติการณ์เหล่านี้กันสักนิด ว่าเราควรจะทำ(หรือไม่ทำ)อะไรอย่างไรกันดี ในข้อขียนตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวไว้ว่า “ในสังคมที่มีจุดแข็งด้านการศึกษา เขาพยายามบอกผู้คนในประเทศของเขาให้เห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ในโลกยุคใหม่ ว่าควรจะรู้จักให้ลึกซึ้งในประโยชน์ของทั้งออนไลน์และออฟไลน์” เขียนล่วงหน้าส่งไปถึงโรงพิมพ์แล้ว ก็ได้อ่านพบข้อมูลที่สามารถสนับสนุนเรื่องนี้ได้อีก ปรากฏอยู่ในข้อเขียนของ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคอลัมน์ “มองมุมใหม่”ของท่าน ที่มีอยู่ในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งจากข้อความ(ส่วนหนึ่ง)ในฉบับประจำวันอังคารที่ 5 กันยายน 2560 ท่านเขียนไว้ว่า “ ในงานสัมมนาTED2017 เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอจากนักวิชาการหลายคน ที่เสนอออกมาในทิศทางเดียวกัน ถึงประโยชน์ของออฟไลน์ในชีวิตประจำวัน ว่า การพบปะพูดคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแบบเจอหน้ากัน จะช่วยให้คนเรามีอายุยืนขึ้นมากกว่าการปฏิสัมพันธ์ผ่านทางระบบออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว การสบตาผู้อื่น หรือการทักทายกัน จะช่วยลดความเครียดในร่างกาย และการเกิดความรู้สึกที่ดี จะทำให้ร่างกายหลั่งสารความสุขเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีผู้พูดอีกท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยที่พบว่า คนที่ใช้เวลาในโลกออนไลน์เยอะๆ ไม่ว่าจะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือแม้แต่การอ่านข่าวออนไลน์ จะมีความสุขน้อยกว่าการอยู่ในโลกออฟไลน์ เนื่องจากการอยู่ในโลกออฟไลน์ ที่ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือดูหนัง ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีจุดจบหรือจุดสิ้นสุด แต่การอยู่ในโลกออนไลน์(ที่สามารถจะทำได้)ตลอดเวลานั้น จะไม่มีจุดหยุดหรือจุดสิ้นสุด เพราะเราสามารถใช้เวลาได้เป็นชั่วโมงๆกับโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะหยุดหรือจบสิ้นลงเมื่อใด การทำกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีจุดหยุดหรือจุดสิ้นสุดในการกระทำ จะทำให้มนุษย์มีเป้าหมาย และมีความสุขในการทำกิจกรรมมากขึ้น” ในท้ายข้อเขียน อาจารย์พสุ ท่านสรุปความเห็นของท่านเอาไว้ว่า “สรุปก็กลับไปที่หลักการของพระพุทธศาสนานะครับ ที่ต้องเดินสายกลาง โดยคราวนี้เป็นการเดินสายกลางระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งในมุมมองกลยุทธ์ธุรกิจ และมุมมองการใช้ชีวิตประจำวัน” ผมขออนุญาตนำข้อเขียนของท่านอาจารย์พสุ มาเผยแพร่ต่อในข้อเขียนของผม ในการเชิญชวนท่านผู้อ่านให้เงยหน้าขึ้นพิจารณาจุดอ่อนในสัปดาห์นี้ เพื่อยืนยันว่า การปล่อยตัวปล่อยใจให้ยึดติดแต่ออนไลน์นั้นมีโอกาสจะส่งผลเสียต่อมนุษย์ได้ไม่น้อย(หรืออาจจะมาก)กว่าผลบวก ถ้ามนุษย์จะไม่รู้จักควบคุมการก้มหน้า ให้อยู่แต่เพียงความพอดีๆ หรือในทางสายกลาง ที่ไม่มากเกินไป จนอาการเสพติดจะติดตามมา เศรษฐกิจสังคมของไทยเรามีจุดอ่อนสำคัญอยู่สามด้าน คือด้านการศึกษา ด้านนวัตกรรม และด้านแก่ก่อนรวย- เลขาธิการองค์การชื่อดังของโลก (ที่มีชื่อย่อคุ้นหูว่าOECD) เขามองเห็นประเทศไทยในยุคนี้ว่าเป็นอย่างนี้ จุดอ่อนด้านที่สาม ซึ่งมีชื่อสะดุดหูน่าฟัง นั้น จะเกี่ยวข้องกับการก้มหน้ามากเกินไป (จนเกิดอาการเสพติด) อย่างไร? เราจะมาพิจารณากันต่อในสัปดาห์หน้าครับ