ทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปี กำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” ด้วยปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามมาเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดอาชญากรรม และปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย ดังนั้น เมื่อครอบครัว เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคม ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันสร้างความครัวมีความพร้อมและมีความมั่นคง ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิต่างๆ อย่างไรก็ตาม การอยู่รวมกันย่อมจะมีความเห็นที่ตรงกันและไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา เช่น สามีภรรยา ที่อาจมีบางช่วงเวลาที่แสดงความเห็นขัดแย้งกันในหลายกรณี เนื่องจากต่างคน ต่างเติบโตมาจากคนละครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุ การศึกษา ความเชื่อ และวัฒนธรรม แต่บางคู่ก็สามารถปรับจูน ประนีประนอมให้สามารถไปด้วยกันได้ เช่นเดียวกันเมื่อมีลูกเพิ่มเข้ามาในครอบครัว ก็ต้องมีการปรับตัว ปรับทัศนติ และความเข้าใจต่อการแสดงออก ตามช่วงวัยของลูก ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และปัญหายาเสพติด ก็เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหาครอบครัว ทั้งการทะเลาะเบาะแว้ง มีปากเสียง กระทั่ง ก่ออาชญากรรมขึ้นก็พบเป็นข่าวอยู่เนืองๆ กระนั้น ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ปัญหาการเมือง ได้เข้ามาบ่อนทำลายความสัมพันธ์ ทำให้คนในครอบครัวมีปากเสียงหรือทะเลาะกันเรื่องการเมือง จนเกิดความกินแหนงแคลงใจกันลุกลามเลยเถิด จนได้เห็นข่าวที่ลูกโพสต์ประจาน โพสต์ต่อว่าพ่อแม่ตนเองฝั่กใฝ่การเมืองฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้สมาชิกออนไลน์เข้าไปต่อว่า หรือประณาม กระทั่งพ่อกับแม่แจ้งจับลูกตนเองก็มีให้เห็น สะท้อนความเปราะบางของสถาบันครอบครัว ความแตกแยกดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพียงความต่างของคนต่างยุค ไม่ใช่ปัญหาระหว่างเจเนอเรชัน แต่เป็นปัญหาเรื่องของการอดทน การยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างพ่อกับแม่ ระหว่างพ่อกับลูก ระหว่างแม่กับลูก หรือพี่กับน้อง ที่สำคัญ คือ การไม่รู้ถูก-ผิด แต่ต้องการเพียงความถูกใจ ฉะนั้น เมื่อได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกใจ จึงไม่สามาถอดทนรับฟังกัน และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ในโอกาสวันครอบครัวนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่าง แต่หวังว่า ครอบครัวใดก็ตาม ที่เคยต้องห่างกัน เพราะความเห็นทางการเมือง จะได้ถือดอกาสนี้ในการปรับความเข้าใจกัน พุดคุยถึงสิ่งดีๆที่มีร่วมกัน มากกว่า ความเห็นที่ไม่ถูกใจของกันและกัน เพื่อคืนความอบอุ่นให้กับครอบครัว จะเห็นได้ว่า แม้เพียงหน่วยครอบครัวเอง ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงหลากหลายปัจจัย ที่คนในครอบครัว ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา หากถอยออกมามองภาพใหญ่ คือประเทศไทย เปรียบเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีสมาชิกครอบครัวถึง 66,186,727 คน ต่างคนต่างก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง มาจากต่างครอบครัว สภาพแวดล้อม การศึกษา ความเชื่อและศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เราจะขัดแย้งกันบ้าง เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนรักกัน ปรองดองกัน หรือเห็นตรงกันทั้งหมด แต่ต้องยืดหยุ่นและผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กัน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกันคือความมั่นคงของประเทศ หากการแสดงออก หรือกระทำการอันใดที่กระทบกระเทือน เลยเถิดไปถึงความมั่นคงของครอบครัวใหญ่คือประเทศนี้ ขอได้โปรดทบทวน ลด ละ เลิกเสียเถอะ