ทวี สุรฤทธิกุล นักการเมืองที่ทำสิ่งน่าละอายและก่อภัยแก่สังคม สมควรรับโทษอย่างไร? กรณีที่มีนักการเมืองติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่าไม่ได้ไปติดมาจากสถานบันเทิง แต่ก็เป็นความมัวหมองที่น่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เป็นข่าว ในเมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวที่เป็น “ภัยสาธารณะ” อย่างน้อยก็แสดงความบกพร่องในทางส่วนตัวของรัฐมนตรีคนนั้น ที่อ้างว่าติดเชื้อโควิดมาจากทีมงานที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงต้นเหตุ เพราะไม่ได้กำชับดูแลบุคคลในการกำกับของตนให้ดี จนกระทั่งได้สร้างความเสียหายต่อคนอื่น ที่จะต้องมีการปิดร้านอาหารและกิจการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต้องมีคนขาดรายได้หลายแสนคน และมีคนต้องตกทุกข์ได้ยากอีกนับล้าน แม้แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังต้องใช้การประชุมทางไกล และการประชุมรัฐสภาก็เกือบจะล่ม เพราะหลายคนไม่แน่ใจว่าจะมีนักการเมืองหรือรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ไปติดเชื้อโรคร้ายนั้นมาอีกหรือไม่ ในสัปดาห์เดียวกัน ที่ประเทศไต้หวันก็มีข่าวว่ารถไฟชนกับรถบรรทุก โดยรถไฟวิ่งมาดี ๆ แต่รถบรรทุกนั้นเกิดอุบัติเหตุไหลลงมาจากถนนที่อยู่บนเชิงเขาเหนือทางรถไฟ จนมาปะทะเอากับรถไฟที่กำลังวิ่งผ่านมาพอดี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน และบาดเจ็บเป็นร้อย พอรุ่งขึ้นต่อมารัฐมนตรีคมนาคมของไต้หวันก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งในทันที โดยให้เหตุผลอย่างที่ไม่เคยมีจากปากนักการเมืองไทยว่า “ผมต้องแสดงความรับผิดชอบ” ถ้าจะให้เหตุผลอย่างนักการเมืองไทย อาจจะแค่บอกว่า “ผมไม่เกี่ยว รถไฟมันวิ่งมาดี ๆ แต่รถบรรทุกมันไหลลงมาชนรถไฟเอง ผมไม่ได้ขับรถไฟ และก็ไม่ได้ขับรถบรรทุก” (เหมือนกับกรณีที่ลูกน้องของตนไปทำอะไรจนติดเชื้อโรคมา ก็บอกได้แต่ว่าตนไม่ได้ไปเที่ยว แต่ “ไอ้...ลูกน้อง” มันไปติดมาเอง) ผู้เขียนไม่ได้ต้องการตะคอกตะคั้นว่า “ใครผิด” แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้ไม่ได้เป็นคนที่ได้ทำผิดโดยตรง แต่มีส่วนต้องรับรู้หรือรู้อยู่แล้วว่ามีคนทำผิด โดยเฉพาะเป็นความผิดที่ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมอย่างร้ายแรง เหมือนกรณีรถบรรทุกไหลลงมาชนรถไฟที่ไต้หวัน ก็ต้องมีคนรับผิด ซึ่งนี่เป็นความผิดต่อสาธารณะ ผู้รับผิดชอบสูงสุดก็คือรัฐมนตรี และในไต้หวัน รัฐมนตรีเขาก็รับผิดชอบด้วยการลาออก ทั้งนี้ผู้เขียนก็ไม่ได้บังคับ(และไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ พอที่จะไปบังคับ)ให้รัฐมนตรีต้องลาออก แต่น่าจะต้องแสดงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา เช่น เอาผิดกับลูกน้อง (ถ้าเป็นตำรวจก็ต้องให้ไปสอบสวนเอาผิดและไล่ออกให้ได้) หรือในฐานะที่คุณเป็นรัฐบาล ก็เสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปจัดการกับสถานบันเทิงที่เป็นต้นตอ และเอาผิดตำรวจในท้องที่ให้เด็ดขาดด้วย (ในความผิดที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ และพระราชกำหนดฉุกเฉิน เหมือนกับที่ทำกับม็อบต่าง ๆ ที่ถึงขั้น “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เอาคอนเทนเนอร์ไปขวางถนน และเครื่องฉีดน้ำแพง ๆ ไปฉีดไล่ผู้ชุมนุม แล้วก็พยายามทำยอดการจับกุมไปอวดเจ้านายให้ได้มากที่สุด) ที่สุดอาจจะต้องถือเป็นจรรยาบรรณว่า หากมีการกระทำผิดในทำนองนี้อีก จากนักการเมืองหรือทีมงานของนักการเมือง จะต้องมีผู้รับผิดชอบอะไรอย่างไร ตามข่าวที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในทางโซเชียลของคนดังบางคน ยังเผยออกมาด้วยว่า สถานบันเทิงเหล่านั้นมีนักการเมืองจำนวนมากไปใช้บริการหาความสุขกันมาเป็นเวลานานแล้ว ถึงขั้นที่ตั้งชื่อสถานบันเทิงเหล่านั้นว่า “ไทยคู่ฟ้าคลับ” อันหมายถึง “ที่ทำการของรัฐบาล” อีกแห่งหนึ่ง เพราะมีการนำเรื่องการประมูลโครงการต่าง ๆ เป็นหมื่น ๆ ล้าน จนน้องหนูทั้งหลายได้ยินมาและนำออกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ก็จะเป็นความผิดในเรื่องการนำความลับของทางราชการไปเผยในที่สาธารณะ อันเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็น “การทรยศต่อชาติ” นั่นเลยทีเดียว แต่อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะผิดกฎหมาย ปปช. ในข้อหากระทำการที่อาจจะขัดกันซึ่งผลประโยชน์ของทางราชการ ด้วยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นความชั่วที่เข้าขั้น “หายนะ” เช่นกัน ผู้เขียนเคยทำงานเป็นทีมงานของนักการเมืองเมื่อสัก 30 ปีกว่าก่อน ด้วยความที่ยังเป็นหนุ่มโสด ก็มี “ปาร์ตี้” อยู่เป็นประจำ โดยมีพรรคพวกที่ทำงานการเมืองด้วยกันนั่นแหละพาไปในแหล่งบันเทิงต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ในสมัยนั้นก็คือ “คฤหาสน์สีขาว” (ชื่อจริงเป็นภาษาฝรั่งเศสในความหมายเดียวกันนี้) อยู่ในซอยเอกมัย มีสาวบริการระดับ “เวิลด์คลาส” ทุกชาติทุกภาษา นับร้อย ๆ มาคอยเอาอกเอาใจให้แขกทั้งหลาย “คลายเครียด” พวกเราบอกพนักงานต้อนรับว่าเราเป็นนักธุรกิจธรรมดา ๆ และทุกคนก็ใช้ชื่อปลอมในการพูดคุยกัน โดยสมมติให้เพื่อนคนหนึ่งที่ดูมีอายุและท่าทางเป็นเสี่ย มีชื่อว่า “บอส” และเป็นคนจ่ายเงิน (ที่เรามาหารเฉลี่ยคืนให้ภายหลัง เพราะเพื่อนบางคนไม่กล้ารูดเครดิตการ์ด ที่เขาจะส่งบิลไปเก็บที่บ้าน โดยกลัวว่าเมียจะมาแอบเห็น) ที่สุดก็เที่ยวกันได้แค่ 2-3 ครั้ง เพราะความแตก คือพอเมาแล้วก็พลั้งเผลอกันจนได้ ทำให้เที่ยวไม่สนุก และพอดีก็ถูกทหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลพอดี จากนั่นเศรฐกิจก็แย่ ฟองสบู่แตก ทำให้ “คฤหาสน์สีขาว” ต้องล้มกิจการไปด้วย ที่เล่าเรื่องของตัวผู้เขียนมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ความรับผิดชอบคืออะไร” แม้แต่การทำงานในสมัยก่อนก็ไม่มีใครที่จะกล้าเปิดเผยตัวเอง หรือเที่ยวไปคุยโม้โอ้อวด เอาความลับของทางราชการไปบอกใครต่อใคร แม้กระทั่งในหมู่คนเล็กคนน้อยที่เป็นลิ่วล้อบริวารของคนใหญ่คนโต เพราะนอกจากเขาต้องรักษาชื่อเสียงของเจ้านายแล้ว เขายังต้องรักษา “ผลประโยชน์ของชาติ” เพราะเมื่อต้องมาทำงานกับนักการเมือง ก็ต้องถือว่าตนเองเป็นคนของประชาชน หรือ “ทำงานเพื่อประชาชน” นั้นด้วย คาถานี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับนักการเมืองหรือข้าราชการ แต่ยังใช้กับคนไทยทั่วไปที่รักชาติรักบ้านเมืองนี้ด้วย