ค่าครองชีพมันมีแต่ขึ้นราคาไม่มีลดลง สินค้าที่จะราคาอาจจะตกต่ำนั้นคือ “สินค้าปฐมภูมิทางการเกษตร” หรือวัตถุดิบที่ยังมิได้แปรรูป ทุกอย่างนั่นแหละ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ฯลฯ มันเป็นอย่างนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าระยะไหน...อั้นไม่หว กดไม่ได้แล้ว ราคาค่าครองชีพก็พุ่งขึ้นทีหนึ่ง ใครเป็นรัฐบาลช่วงนั้น ก็ต้องรับคำด่าไป.... จะแก้ไขกันให้เห็นผล มันยากแสนยาก เพราะต้องทำถึงขั้น “ปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ” ซึ่งถ้าทำกันในประเทศเดียวก็จะไปไม่รอด เพราะเกือบทั้งโลกยังนิยมเศรษฐกิจระบบทุนนิยมอยู่ ดังนั้นในทงปฏิบัติ เราจึงพูดกันได้แค่เพียง “การปฏิรูป” สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้มีมากขึ้นบ้างเท่านั้น “ความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจ คือระดับแห่งความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันในสังคมนั้น เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุด เพราะเมื่อมีความเสมอภาคดังนี้แล้ว เสรีภาพอันแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น คือเสรีภาพในการพูด การเขียน การแดงความคิดเห็น จะตามมา ตลอดจนเสรีภาพที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สังคมเราทุกวันนี้มีเงินเป็นอำนาจ ตราบใดที่ความแตกต่างในฐานะเศรษฐกิจยังมีระดับอันเหลื่อมล้ำกันมากมายเช่นนี้ เงินก็มีอำนาจปิดปากได้ กำจัดเสรีภาพต่าง ๆ ได้ และใครขาดเงินก็ขาดโอกาสที่จะทำการได้เต็มที่ตามความสามารถของตน มรดกของสังคมนั้นเรารับไว้ปะปนกันหลายอย่าง ควรเลือกคัดเก็บเอาไว้แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ไม่ควรรับไว้ทั้งดุ้น ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผมมีความเห็นตรงกับคุณในข้อนี้” ( คึกฤทธิ์ ปราโมช“ตอบปัญหาประจำวัน” วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๐๐) บางรัฐบาลก็อ้างการลดความเหลื่อมล้ำ เข้าไปกุมการดำเนินการทางเศรษฐกิจเสียเองโดยตรง หวังว่าจะช่วยให้พลเมืองผู้มีฐานะเศรษฐกิจไม่ดี เปลี่ยนแปล เพราะมีรายได้สูงขึ้น อย่างการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาดของรัฐบาลเพื่อไทย มันมิใช่แค่ขั้นตอนรับจำนำ มันกลายเป็นว่า “รัฐ” เกือบจะผูกขาดการค้าข้าว เพราะรัฐเป็นผู้ซื้อข้าวเก็บไว้มากที่สุด แล้วสุดท้าย ต้องขาดทุน...วายป่วง การที่รัฐเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเองนั้น มิใช่เรื่องผิด แต่มันอาจจะเกิดผลดี หรือเกิดผลเสียก็ได้ ตัวชี้ขาดมันมิได้ชี้ขาดที่ระบบ หากแต่ชี้ขาดที่ “คน” ผู้ปฏิบัติ ต่างหาก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจว่า“ผมพูดมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า การที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจนั้น หากบุคคลที่มาประกอบกันเป็นรัฐ ยังมีความโลภ ยังพร้อมที่จะหาประโยชน์ใส่ตัวแล้ว ก็ยิ่งร้ายหนักขึ้นไปอีก เพราะราษฎรจะกลายเป็นทาสของรัฐ หรือบุคคลที่เป็นรัฐนั้นไป ด้วยเหตุนี้เมืองไทยจึงยังทำไม่ได้” แนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทัดเทียมทางเศรษฐกิจนั้น นักวิชาการ,นักการเมือง เขียนวิธีการเสนอกันไว้มาก แต่เชื่อเถิด ถ้าไม่มีคนที่กลัวบาปกลัวกรรมเข้ามาทำ ก็ไม่มีทางสำเร็จ