เข้าสู่ฤดูม็อบ ทั้งม็อบเด็กและม็อบผู้ใหญ่หน้าเดิม สุมรุมเข้ามากดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้อุณหภูมิการเมือง ร้อนแรงไม่แพ้สภาพอากาศ
ประเด็นหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ อิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางหนึ่งในการนัดหมาย และปลุกเร้าให้ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมกันบนท้องถนน เปลี่ยนจากปรากฎการณ์ทัวร์ลงในโลกออนไลน์ มาสู่โลกออฟไลน์
มีอิทธิพลขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่า ในประเทศรัสเซีย ศาลมีคำสั่งปรับ “ทวิตเตอร์” เป็นเงิน 3.2 ล้านรูเบิล หรือประมาณ 4.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานไม่ยอมลบโพสต์เชิญชวนประชาชนชาวรัสเซียให้ออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วง ภายหลังจากหน่วยงานกำกับดูแลกิจการสื่อสารของทางการรัสเซีย ได้ออกมาเตือนต่อทางทวิตเตอร์ให้ลบโพสต์ดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ไม่ได้ปิดกั้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการเชิญชวนคนมาร่วมชุมนุม และหากฟังวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีใหม่แกะกล่อง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความเห็นเอาไว้ว่า โดยหลักการคือ ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพสูงในการแสดงความคิดเห็น จะไปจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในการจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้ หรือสื่อจะออกข่าวจะไปปิดกั้นไม่ได้ แต่ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ข่าวปลอม หรือ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ก็ต้องดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งดำเนินคดี และสั่งให้ปิดกั้นข้อมูล เฉพาะข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือที่มีผลกระทบต่อชาติบ้านเมือง
นายชัยวุฒิ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันด้วยว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีความล่าช้ารวมไปถึงข้อกฎหมายที่ยังไม่สามารถควบคุมและบังคับใช้กับแอคเคาท์ปลอมได้
อย่างไรก็ตาม จากความเห็นดังกล่าว สะท้อนว่ารัฐมนตรีดีอีเอสคนใหม่ รู้จุดอ่อนของตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล่าช้า และติดขัดที่ข้อกฎหมาย
หากแต่ฝ่ายตรงข้ามนั้น มีจุดแข็งอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีทีมผลิตเนื้อหา ทั้งในและต่างประเทศ มีทีมเผยแพร่ หรือโพสต์จำนวนมาก ที่ไม่เปิดเผยตนหรือที่นายชัยวุฒิพูดถึงคือ ใช้แอคเคาท์ปลอม หรืออวตาร คนหนึ่งสามารถระเบิดแอคเคาท์ออกมาได้เป็น 20 แอคเคาท์หรือมากกว่านั้น ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามจึงสามารถสร้างกระแสได้ง่าย ทำให้ผู้ที่เข้าไปเสพข้อมูลดังกล่าวบ่อยๆ อาจมีความคิดโน้มเอียง คล้อยตามได้ รวมทั้งกระจายไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
นอกจากทีมงานของกระทรวงดีอีเอส ที่จะเข้าสู่สงครามต่อต้านบรรดากลุ่มสื่อสังคมออนไลน์หมิ่นสถาบันนี้ จะต้องรู้เท่าทัน และต้องก้าวให้ล้ำไปกว่าแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การใช้พระเดช และพระคุณของดีอีเอส ที่มีต่อบรรดาสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการพูดคุย หรือสกัดกั้นข้อมูลที่กระทบต่อสถาบันได้อย่างทันท่วงที เหมือนกับเอไอ ที่คอยจับข้อความเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง