ทีมข่าวคิดลึก ในระหว่างทางที่การเลือกตั้งยังมาไม่ถึง แต่โรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะเป็นความเข้มข้นที่กำลังจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ที่ว่าด้วย "อำนาจ" ของ คสช. ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย ! ความเป็นจริงแล้ว เวลานี้ใช่ว่า "ฝ่ายการเมือง" เองในทุกกลุ่มทุกค่าย แทบทุกสี จะไม่พากันเคลื่อนไหว ในทางตรงกันข้าม ทั้งพรรคพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เองไปจนถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ของ"ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แม้วันนี้อยู่ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)พร้อมด้วยแกนนำ กปปส. จะเดินหน้าดำเนินการสร้างวิทยาลัยอาชีวะภาวนาโพธิคุณ บนเกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ก็ตาม แต่ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้ว "บารมี"ของกำนันสุเทพยังคงแรงเสมอต้นเสมอปลาย จนว่ากันว่า อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ต้นสังกัดเดิมถึงกับหวั่นไหว เพราะทำไปทำมากปปส. ได้กลายเป็น "คู่แข่ง" ในสนามการเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว สมมติฐานข้อนี้ประเมินได้จากชัยชนะจากการทำ "ประชามติ"เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงสามารถผ่านความเห็นชอบจากประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงจนเป็นที่มาของ "ความชอบธรรม" ของคสช. บนชัยชนะครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจาก "แรงหนุน" ของ กปปส.ที่ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตามที่ใครหลายคนประเมินเอาไว้เท่านั้น ขณะที่ กปปส. คือกลุ่มขั้วอำนาจที่ยืนอยู่ในข่ายพันธมิตร แนวร่วมของ คสช. ย่อมทำให้ กปปส.อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนักเมื่อเทียบกับ "สองพรรคใหญ่" ทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ที่กำลังวิตกว่าที่สุดแล้วพวกเขาจะรอดพ้นจากปฏิบัติการสลายพรรคไปได้หรือไม่ !? สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นดูจะเข้าข่ายความเสี่ยงสูง เพราะหนึ่งคือฝ่ายตรงข้ามที่ คสช. ต้องการ "ขุดรากถอนโคน" เข้าควบคุม"ขั้วทักษิณ" เอาไว้ในมือ ดังนั้นไม่ว่าจะมีรายการเซตซีโร่หรือไม่ก็ตาม เพียงการสร้างความหวั่นไหวเพื่อ "แยก" บางกลุ่ม บางขั้ว ออกจากพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องเกิดขึ้นยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ยังไม่นับถึงการหยิบเอา "คดีความ" อีกหลายคดีขึ้นมาดำเนินการเพื่อ "เขย่าครั้งใหญ่" ทั้งพรรคทางด้านพรรคประชาธิปัตย์เอง แม้วันนี้กระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจะสร่างซาลงไปแล้วก็ตาม แต่ย่อมไม่ได้หมายถึง "คลื่นใต้น้ำ" และแรงกระเพื่อมจะหายไป หากแต่รอจังหวะที่จะกลับมากระแทกขั้วอำนาจของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในครั้งใหม่ เมื่อเป้าหมายคือการเปิดทางให้เกิดพรรคใหม่ พรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง เพื่อทำหน้าที่เปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก ที่จะมาจากคสช. คือหลักใหญ่ หมายความว่าโอกาสที่สองพรรคใหญ่จะถูกเขย่าเพื่อให้สมาชิกที่ต้องการมีใจออกห่าง และมองหาที่หมายใหม่ ได้โอกาส "ขยับ" ออกจากพรรค แล้วไปรวมตัวกันใหม่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง เพื่อเป็นกลไกอำนาจให้กับ คสช. ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง !