ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จากในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.6 โดยดัชนีฯ ปรับสูงขึ้นมากกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562 ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อ และการผลิตพร้อมคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.1 ตามดัชนีฯ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพีในปี 2564 เทียบกับปี 2563 ที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563 ซึ่งตอกย้ำว่า ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
ขณะที่ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2562 เรื่องปัญหาขาดการออม การลงทุน และปัญหาหนี้สิน ของคนไทยพบว่า ครัวเรือนไทยมีเงินออม ต่ำเฉลี่ยเพียง 133,256 บาทต่อครัวเรือน และยังเริ่มออมช้า โดยการศึกษาของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยเริ่มวางแผน การออมที่อายุ 42 ปี ขณะที่สหรัฐเริ่ม วางแผนการออมตั้งแต่อายุ 30 ปี และ เมื่อพิจารณาการลงทุนของครัวเรือนไทย ยังพบว่า ในปี 2562 ครัวเรือนที่ลงทุน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.2% ของครัวเรือนทั้งหมดอีกทั้งคนไทยยังมีการก่อหนี้ ในระดับสูง
โดยหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อจีดีพี โดยมีหนี้เพื่อการอุปโภค บริโภคสูง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล และ บัตรเครดิต ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ ส่วนหนึ่งมาจ่ายหนี้จนไม่มีเงินออม สวนทางกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะคนเจนวาย (Gen Y ตามแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงต้นของ ปี พ.ศ.2523 - จนถึงปลาย พ.ศ. 2542) ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมใช้จ่ายสินค้า ฟุ่มเฟือยโดยเฉลี่ยใช้เงินมากถึง 69% ของเงินเดือน คิดเป็นมูลค่าเกือบปีละ 1 แสนบาท หรือเป็นมูลค่ารวมทั้งประเทศ ปีละ 1.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ต่อจีดีพี โดยการซื้อสินค้าเหล่านี้ 70% เป็นการใช้เงินจากการกู้ธนาคาร บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด สะท้อนให้เห็นถึง พฤติกรรมใช้เงินก่อนออม ใช้จ่ายเกินตัว แบบไม่จำเป็นและมีความรู้ทางการเงินต่ำ
สศช. ได้มีข้อเสนอทางด้านนโยบาย เพื่อ เตรียมตัวรองรับสังคมสูงวัย ทั้งเร่ง การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เน้นพัฒนาคน ให้มีทักษะสูงให้ทันต่อเทคโนโลยี เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ แรกเกิด รวมทั้งส่งเสริมการทำงาน ของทุกช่วงวัยจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้น ให้เด็กมีทักษะ การทำงานและมีรายได้ ส่วนผู้สูงอายุ ก็อาจส่งเสริมให้ขยายอายุการเกษียณ จาก 60 ปี เป็น 63 ปีรองรับการขาดแคลน แรงงาน และต้องจัดสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว
ดังนั้น ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว อาจจะทำให้การกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่คนไทยยังมีปัญหาเรื่องการออม ทั้งเริ่มออมช้า และเงินออมน้อย ก็อาจจะทำให้เป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ