ทีมข่าวคิดลึก
ยังคงไม่มีอะไรแน่นอน สำหรับการเมืองไทย แม้วันนี้จะมีการโยนโจทย์ใหม่ลงมา ว่าด้วย "รัฐบาลแห่งชาติ" จากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "พิชัย รัตตกุล" หรือแม้แต่การกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ควรจะฟังฝ่ายที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง อย่าง "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือ การเงี่ยหูฟัง "สัญญาณ"จากแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในมือ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
แต่ที่แน่นอนและชัดเจน คือเกิดปฏิบัติการ "จัดทัพ" เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ความแข็งแกร่งให้กับ คสช. และรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี 2560 โดยเฉพาะในส่วนของ "กองทัพ" ไปจนถึง "มหาดไทย" ที่ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งไฟเขียวแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 26 จังหวัด ไปหมาดๆเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา
กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองไปจนถึง "บิ๊ก คสช." ที่มีต่อการเสนอแนวคิด ให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาจากพิชัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นยังคงยืนระยะและยืดเยื้อต่อเนื่องกันตลอด
สัปดาห์ โดยที่เสียงส่วนใหญ่แทบไม่มีใคร"ขานรับ" แนวทางที่ "ปู่พิชัย" วาดหวังจะให้เป็น "ทางออก" สำหรับการเมืองที่ถูกล็อกเอาไว้ อีกทั้งยังมองไม่เห็นวี่แววของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ !
แม้ในยามนี้ จะไม่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ อยู่ในประเทศไทย ก็น่าที่จะเป็นการดี ที่ "ชนวนความขัดแย้ง" ได้ถูกดึงออกจากเกม แต่กลับดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมทางการเมือง ยังคงความแรงเอาไว้เช่นเดิม
เพราะไม่เพียงแต่บรรดานักการเมืองจากพรรคต่างๆ จะไม่ขานรับการมีรัฐบาลแห่งชาติ ตามที่ปู่พิชัย เสนอแล้ว ยังพากันกดดัน คสช.ให้ทำตามสัญญา ด้วยการเปิดทางให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ตามโรดแมป อีกด้วย !
เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ เองต่างเชื่อมั่นในฐานเสียงของตนเองที่มีอยู่ในมือ ว่า "ไม่ด้อย" ไปกว่า คสช.ที่แว่วว่าเตรียมตั้ง "พรรคทหาร" ขึ้นมาเพื่อชิงเก้าอี้ ส.ส.กับขั้วการเมืองเก่า อีกทั้งยังกลายเป็นว่ายิ่งเข้าโค้งสุดท้ายของโรดแมป ยิ่งพบว่า "คะแนนนิยม"ของทั้ง คสช.และตัว พล.อ.ประยุทธ์ กำลังอยู่ในช่วงขาลง ความนิยมที่เคยมีท่วมท้น ก็กลับถูกลดทอน ลงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากจะพบว่าเหตุใดบรรดานักการเมือง จึงหันมาเล่นบท"หมูไม่กลัวน้ำร้อน" อีกทั้งยังเรียกร้อง กดดัน คสช. ให้เปิดสนามเลือกตั้งตามสัญญาและสำคัญไปกว่านั้น ยังมีการออกมา "ดักคอ" เตือนว่าอย่าใช้วิธีการ "คว่ำกฎหมายลูก"เพื่อยื้อเวลา ต่อวีซ่าให้ตนเอง
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น แท้จริงแล้ว ย่อมไม่ใช่ประตูที่ปิดตายหรือหนทางที่จะเป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด เพียงแต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มีแต่ฝ่าย คสช.ได้เปรียบเหนือคู่แข่งทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเป็นฝ่ายกุมอำนาจสามารถกำหนดเกมการเล่นได้ทั้งหมด
และที่สำคัญไปกว่านั้น หากมีรัฐบาลแห่งชาติ ย่อมเป็นการเปิดทางให้ คสช. ได้มีโอกาสอยู่ต่อ อยู่ยาว ส่วนจะแปลงร่าง แปรเปลี่ยนสถานะ ไปอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งด้วยเหตุนี้ "แรงต้าน" จากฝ่ายการเมืองที่มีความหวังในสนามเลือกตั้ง จึงดาหน้า จับมือต้านรัฐบาลแห่งชาติ กันอย่างเต็มที่ ตามที่เห็น