เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.
ความรุนแรงในโลกไม่เคยลดลง มากจนหลายคนอาจจะรู้สึกชาชิน ไม่รู้ร้อนรู้หนาว และนี่คือปัญหาที่ไอน์สไตน์เตือนไว้ “โลกเป็นที่อันตราย ไม่ใช่เพราะผู้คนชั่วร้าย แต่เพราะคนส่วนใหญ่เฉยเมย”
ที่สำคัญ ไม่สนใจ “พยาธิวิทยาว่าด้วยอำนาจ” (pathology of power) ที่มาสาเหตุของความรุนแรงคืออำนาจ หรือเคยเรียนแต่ประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริงที่โหดเหี้ยมอย่างกรณีนาซีในเยอรมัน เผด็จการเบ็ดเสร็จในรัสเซีย จีน กัมพูชา ที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้าน โดยไม่ได้เรียนว่า “ทำไม” จึงเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ถ้าหากมีการศึกษาที่มาสาเหตุ สังคมน่าจะได้บทเรียนที่ดี และมีวิธีการที่จะไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะการเรียนที่ทำให้คนคิดเป็นจะนำไปสู่การพัฒนาจิตสำนึกใหม่ ที่ปฏิเสธความรุนแรง และปฏิเสธอำนาจที่ไม่เป็นธรรม
ในความเป็นจริง มนุษยชาติไม่ได้เรียนรู้ 30 ปีมานี้ถึงยังมีความรุนแรงแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในรวันดาเพียงร้อยวันฆ่ากันเป็นล้าน สงครามกลางเมืองยูโกสลาเวียตายอีกหลายแสนเมื่อแยกเป็นหลายประเทศ สงครามในอัฟกานิสถาน อีรัก และซีเรีย ตายเท่าไร อพยพลี้ภัยไปตายเอาดาบหน้าอีกหลายล้าน
ลอร์ดแอกตันบอกว่า "อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงมักเป็นคนเลว" (Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men)
คนเหล่านี้มีสำนึกตายด้านที่ฮันนาห์ อาแรนด์บอกไว้เมื่อไปฟังการพิจารณาคดี อดอล์ฟ ไอค์มันน์ อดีตนายทหารนาซีในปี 1961 ในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาอ้างว่าทำลงไปเพราะหน้าที่ ฮันนาห์เรียกจิตสำนึกแบบไอค์มันน์ว่า “สามานย์คือสามัญ” หรือ “ความชั่วร้ายที่กลายเป็นเรื่องธรรมดา” (The Banality of Evil) เป็นตรรกะของเผด็จการที่บ้าอำนาจ และใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อรักษาอำนาจไว้จนตายด้านชั่วดี
ฮันนาห์ อาแรนด์ เป็นนักรัฐศาสตร์เยอรมันเชื้อสายยิว เขียนหนังสือ “ต้นกำเนิดของเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (The Origins of Totalitarianism) เธอพยายามอธิบายต้นกำเนิดและธรรมชาติของความชั่วร้าย ว่าคนมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมความชั่วร้ายเพราะไม่พิจารณาอย่างวิพากษ์ (critical examining) มืดบอดต่ออุดมการณ์ที่มองเห็นเป็นทางเดียวที่เขารู้จักในโลกที่แปลกแยก
เผด็จการจะใช้ “อุดมการณ์” (ideology) และ “ความกลัว” (terror) เพื่อสยบไม่เพียงแต่ศัตรูทางการเมือง แต่ประชาชนทั้งหมด รวมการโฆษณาชวนเชื่อ ล้างสมองประชาชนจนแยกไม่ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องแต่งขึ้น ระหว่างความจริงกับความเท็จ ระหว่างเรื่องจริงกับทฤษฎีสมคบคิด
ความแตกต่างระหว่างความจริงและความเท็จจะไม่ใช่รูปธรรมสัมผัสได้ แต่เป็นเรื่องอำนาจและความฉลาด กดดันและพูดซ้ำอย่างไม่มีสิ้นสุด “ข้อเท็จจริงขึ้นอยู่กับอำนาจของคนที่สามารถสร้างมันขึ้นมา”
อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จจัดการกับคนที่คิดต่าง นักคิดอิสระที่สวนกระแสที่พวกเขาสร้างขึ้น เผด็จการเบ็ดเสร็จพยายามอยู่ในอำนาจให้ยาวนานสุด จัดการกับคนที่ต่อต้านให้มากที่สุด ปิดปากคนที่เหลืออื่นๆ
อาแรนด์เตือนว่า “การแก้ปัญหาเผด็จการเบ็ดเสร็จอาจไม่ได้หมดไปพร้อมกับการล่มสลายของระบอบเผด็จการ อาจกลับมาเมื่อใดก็ได้ที่ปัญหาการเมืองสังคมเศรษฐกิจไม่สามารถหาทางออกแบบธรรมดาได้”
อาแรนด์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับนาซีที่ใช้ทุกวิถีทางในการขึ้นสู่อำนาจและรักษาอำนาจโดยใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองอื่น เมื่อขึ้นสู่อำนาจก็ทำลายพรรคฝ่ายค้าน ยุบพรรคทั้งหมด เหลือเพียงนาซีเพียงพรรคเดียว ยุบตำแหน่งประธานาธิบดีรวมกับนายกรัฐมนตรี เหลือแต่เพียง “ท่านผู้นำ” (der Fuehrer) ตำแหน่งเดียว
ที่มีข่าวไฟไหม้โรงงานจีน ห้างสรรพสินค้าในย่างกุ้งนั้นคล้ายกับที่เบอร์ลินเมื่อ 80 กว่าปีก่อนที่ไฟไหม้ถูกใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือของฝ่ายค้านบ้าง ของยิวบ้าง ทั้งๆ ที่รู้กันว่านาซีสร้างสถานการณ์ เหมือนที่มีคนเห็นรถบรรทุกไปขนของออกจากห้างที่ย่างกุ้งก่อนที่จะเกิดไฟไหม้ ที่ทหารกล่าวหากลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นคนวางเพลิง รวมทั้งข้อกล่าวหาอองซาน ซูจี ที่ใครได้ยินก็รู้สึกตลก เลวร้ายขนาดต้องปฏิวัติกระนั้นหรือ
เหตุการณ์ในพม่า คือความพยายามรักษาอำนาจของทหารซึ่งเป็น “รัฐในรัฐ” (a state within a state) ที่มองเห็นการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังสลายอำนาจของตนที่มีมานาน จนฟื้นสำนึกแบบ “สามานย์คือสามัญ” (the banality of evil) ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อรักษาอำนาจ
บ้านเราก็ไม่ได้แตกต่างกันในแง่ของ “ทหาร” ที่เป็น “รัฐในรัฐ” ที่ไม่ยอมสูญเสียอำนาจ พยายามใช้ความชอบธรรมของอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” รวมทั้งความรุนแรงของกฎหมายให้เกิดความกลัว (terror) ในการจัดการกับผู้ต่อต้าน ดำเนินคดี จับกุมคุมขัง
ในเวลาเดียวกันก็เหมือนพอใจในความแตกแยกในหมู่ประชาชนที่มีฝักมีฝ่าย มีสี ใช้วิธีการต่างๆ ให้คนเกลียดชังกัน ไม่พยายามให้เกิดความสมานฉันท์ ความสามัคคี มีแต่เหมือนราดน้ำมันบ้าง ใส่ฟืนเข้าไปในกองไฟบ้าง ให้มันลุกไหม้ไปไม่หยุด จะได้เรียกหาอำนาจเด็ดขาดเรื่อยไป
ไทยเหมือนไม่มีบทบาทในการช่วยหาทางออกสถานการณ์ในพม่า ขณะที่หลายชาติในอาเซียนอย่างอินโดนิเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พยายามหาทางประสานให้นานาชาติช่วยกันคลี่คลายปัญหาที่ไม่ใช่การ “แทรกแซง” พม่าที่ฆ่ากันตายจนจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะแค่นี้ก็ส่งผลกระทบไทยและต่ออาเซียนมากแล้ว ถ้าไม่ช่วยกัน “ดับไฟ” ปัญหาความมั่นคงและพลังงานที่มีการลงทุนในพม่าได้รับผลกระทบแน่
รัฐบาลไทยน่าจะแสดงบทบาทเด่นชัดกว่าคนอื่น เพราะมีชายแดนติดกันกว่า 2,400 กม. มีแรงงานพม่าในไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน คนไทยไปลงทุนในพม่า มีการค้าขายผ่านชายแดนมากมาย คนไทยคนพม่าชาวบ้านหลายล้านคนเดือดร้อน อดอยากยากแค้นหนักขึ้นทุกวัน