ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก็จะเป็นองค์กรกุมหัวใจเศรษฐกิจ เพราะสามารถจะจัดการกับรัฐวิสาหกิจสำคัญได้เกือบทั้งหมด ร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือ จัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนและโปร่งใส มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจน โปร่งใสและมุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์วิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ โดยฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท 11 แห่ง กระทรวงการคลัง จะต้องโอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 11 แห่ง ไปยังบรรษัทฯ รัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด, บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ต่อไปอำนาจการบริหารวิสาหกิจ 11 จะไม่อยู่ในมือรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเจ้าของรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป เพราะความเป็นเจ้าของนั้นถูกโอนให้บรรษัทวิสหกิจแห่งชาติแล้ว เรื่องใหญ่โตขนาดนี้ ถ้าไม่มีเสียงคัดค้าน ก็จะแปลกประหลาดมาก เสียงคัดค้านนั้น ช่วยให้มวลชนต้องใช้ปัญญา ศึกษา เรียนรู้ แล้วตัดสินใจ จะสนับสนุนหรือคัดค้าน ควรทำอย่างมีหลักคิดดด้วยเหตุด้วยผล รัฐบาลต้องการกำหนดให้ "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง เข้ามีบทบาทถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง แทนกระทรวงการคลัง รัฐบาลชี้แจงว่าเป้าหมายหลักคือการให้ซุปเปอร์โฮลดิ้งเข้ามากำกับดูแลทิศทางของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ไม่ใช่จะลักหลับแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่จากบทเรียนในอดีต เราเคยเห็นว่า การตั้งองค์กรซ้อนองค์กร การมีทีมบริหารซ้อนทีมบริหาร โดยที่ทีมผู้บริหารมิได้มีความซื่อสัตย์ต่อชาติและประชาชน ทีมผู้บริหารด้อยประสิทธิภาพ ก็ไม่อาจแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจไทยได้ กลับเหมือนเพิ่มฝูงเหลือบตัวใหญ่ขึ้นขึ้นอีกฝูงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีหลักประกันอะไรว่า หากอำนาจรัฐตกไปอยู่ในมือของนักการเมืองเลวแล้ว บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะรอดพ้นการถูกโกงกิน