“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี” กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่อง “รบพม่าที่ท่าดินแดง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สะท้อนถึงพระราชปณิธานในการปกครองบ้านเมือง ในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ป้องกันประเทศ ดูแลราษฎรและข้าราชบริพารให้อยู่เย็นเป็นสุข พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษยน พ.ศ.2325 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี โปรดเกล้าฯพระราชทานนามเต็มว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมารอวตารสถิต สักกะวิษณุกรรมประสิทธิ์ (ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนคำสร้อยนาม จาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์) พระองค์ทรงบำเพญพระราชกรณียกิจ เพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองนานัปการ โดยเฉพาะในด้านราชการสงครามนั้น ทรงทำศึกสงครามป้องกันและพระราชอาณาจักรหลายครั้ง ครั้งสำคัญในรัชกาลคือ สงครามเก้าทัพ ในพ.ศ.2328 ซึ่งได้รับชัยชนะเป็นที่เลื่องลือในยุทธวิธีการรบของกองทัพไทยที่มีกำลังพลน้อยกว่าข้าศึกที่ยกมาถึง 9 ทัพ ด้านกฎหมายโปรดเกล้าฯให้ข้าราชการที่มีความรู้ในราชประเพณี และการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกันชำระพระราชกำหนด “กฎหมายตราสามดวง” เพื่อควบคุมจัดระเบียบสังคม ทั้งยังทรงฟื้นฟูทำนุบำรุงงานศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม และราชประเพณีต่างๆ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ด้านศาสนา โปรดเกล้าฯให้มีการสังคยานาพระไตรปิฎก ณ วัดนิพพานาราม (ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) และจัดระเบียบพระสงฆ์ด้วยการตรากฎพระสงฆ์ เพื่อให้ประพฤติอยู่ในพระธรรมวินัย (ข้อมูลจาก หนังสือ กรุงรัตนโกสินทร์ รัตนธานีของราชอาณาจักรไทย กระทรวงวัฒนธรรม) วันนี้ เป็น “วันจักรี” เป็นวันระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังทรงสร้างกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยมาถึงทุกวันนี้ 238 ปี จึงขอนำพระราชปณิธาน ของพระองค์มาเตือนสติ บรรดาผู้มีอำนาจ และผู้ที่ต้องการเข้าสู่อำนาจทั้งหลาย ได้สำนึก ตรึกตรอง ในการอันใดที่กระทำอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นไปเพื่อป้องกันประเทศ และปกป้องประชาชนอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่