ทวี สุรฤทธิกุล
นิยายดัง ๆ มีคนเอามาทำเป็นละครซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นเดียวกันกับอดีตบางอย่าง
เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535” ที่นักเคลื่อนไหว(รับจ้าง)บางคน กำลังจะนำกลับมา “รีรัน” หรือฉายซ้ำ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการนำอดีตมาย้อนรอย แต่จะมีอะไรหรือใครอยู่เบื้องหลังบ้างก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด (นอกจากคนที่คิดจะทำเรื่องนี้ในขณะนี้) กระนั้นก็ทำให้หลาย ๆ คนหวาดหวั่น โดยเฉพาะรัฐบาลในเงื้อมเงาทหารชุดนี้ ที่ก็คงจะคิดหนักอยู่เหมือนกันว่า “มันจะเอากันไปถึงไหน”
สำหรับผู้เขียนแล้ว มองความเคลื่อนไหวนี้ด้วยความคิด 2 เรื่อง คือ เรื่องหนึ่ง อะไรคือ “สาระ” หรือแกนเรื่องสำคัญของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และอีกเรื่องหนึ่ง ศักยภาพหรือความเป็นไปได้ที่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะ “สรุปจบ” แบบเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งก็คงเป็นแค่ “มุมมองส่วนตัว” ที่พยายามจะ “ถอดรหัส” ว่านักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้มีเป้าหมายในเรื่องใด และต้องการจะให้เรื่องนี้จบลงอย่างไร
เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีมูลเหตุหลักเกิดจากความขัดแย้งของนายทหารที่ “เล่นการเมืองจนเลยเถิด” ที่มีการสั่งสมความขัดแย้งนี้มาระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ในช่วงการบริหารประเทศของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยได้เกิดปรากฏการณ์ “ดาวล้อมเดือน” ที่พลเอกเปรมได้ระดมทหารรุ่นต่าง ๆ มาเป็นฐานอำนาจอยู่ในทั้งรัฐบาลและรัฐสภา โดยในรัฐบาลพลเอกเปรมจะใช้บริการของนายทหาร จปร. 7 เข้ามาช่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในขณะที่ในรัฐสภาซึ่งก็คือที่วุฒิสภา เต็มไปด้วยนายทหาร จปร. 5 ซึ่งนายทหารทั้ง 2 รุ่นนี้มีการแข่งขันกันที่จะขึ้นเป็นใหญ่ในกองทัพอยู่อย่างเข้มข้น โดยมีนายทหารรุ่นพี่ที่อยู่ในอำนาจในขณะนั้นคือ จปร. 1 ที่แบ่งแยกกันเป็น 2 ขั้ว สนับสนุนอยู่ในแต่ละฝ่าย โดยมีพลเอกเปรมอยู่ตรงกลาง เนื่องจากต้องการแรงสนับสนุนจากทหารทุก ๆ ฝ่ายในกองทัพ
ที่เรียกว่า “เล่นการเมืองจนเลยเถิด” ก็คือหากย้อนอดีตไปอีกสักนิด คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทหารต้องถอยไปอยู่ข้าง ๆ เวที แต่แล้วก็คืนสู่อำนาจได้ในการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นผู้นำทหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้กำกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ให้ทหารยังคงกุมอำนาจอยู่ทั้งในรัฐบาลและรัฐสภา โดยวางแผนที่จะให้ผู้นำทหารเป็นนายกรัฐมนตรีและมีวุฒิสภาคอยค้ำยัน อย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งพอมีการเลือกตั้งในปี 2522 ก็เกิดผิดแผน เพราะพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ทหารวางตัวไว้สืบทอดอำนาจให้กองทัพ เกิดไปเพลี่ยงพล้ำเกมในรัฐสภา เนื่องจากนายทหารที่คณะปฏิรูปฯแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้รวมกลุ่มกันไปสนับสนุนพลเอกเปรมให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูลใหม่” ที่นายทหารเหล่านั้นปฏิเสธไม่ได้ นายทหารในกองทัพก็เกิดความร้าวฉานกันมาตั้งแต่บัดนั้น แม้แต่พลเอกเปรมก็เคยถูกปองร้ายอยู่หลายครั้ง ต่อมาภายหลังการไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรมหลังการเลือกตั้งปี 2531 นายทหารหลาย ๆ คนก็กระจายกันไปอยู่ตามพรรคการเมืองต่าง ๆ และบางส่วนได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ท่านก็เคยเป็นใหญ่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอนายทหารรุ่นหลังบางคนไม่ได้เคารพยำเกรงท่าน ท่านจึงคิดที่จะจัดระเบียบกองทัพเสียใหม่ ด้วยการตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตามข่าวแจ้งว่าจะให้เข้ามา “จัดแถว” นายทหารในกองทัพนั้นเสียใหม่ ทั้งนี้พลเอกอาทิตย์ก็เป็นนายทหารอีกคนหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับนายทหารกลุ่ม จปร. 5 มาตั้งแต่ครั้งสมัยพลเอกเปรมมีอำนาจนั้นแล้ว จึงทำให้ทั้งพลเอกชาติชายและพลเอกอาทิตย์ต้องถูก “ไฮแจ็ค” จับกุมตัวขณะกำลังขึ้นเครื่องบินที่สนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง ในเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตามมาด้วยการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (บิดาของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก) จากนั้น รสช.ก็วางแผนที่จะสืบทอดอำนาจ โดยให้พรรคสามัคคีธรรมไปรวบรวม ส.ส.มาสนับสนุนให้พลเอกสุจิน คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้นายทหารที่ไปอยู่ในพรรคการเมือง คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาก่อม็อบขัดขวาง โดยการอดอาหารของพลตรีจำลองศรีเมือง ที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนพากันไปชุมนุมกันที่สนามหลวง และมาสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ที่พลตรีจำลองถูกล้อมจับ แล้วก็นำไปสู่การจลาจลอยู่หลายวัน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกให้ทั้งพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองมาเข้าเฝ้า จึงทำให้เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” นั้นสงบลง
ผู้เขียนมองว่า กลุ่มที่กำลังก่อความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “สามัคคีประชาชน” ที่คิดจะนำเอารูปแบบของการขับไล่พลเอกสุจินดาในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า “พฤษภา 35 โมเดล” นี้ มาใช้ขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะมองว่าโครงสร้างอำนาจในหมู่นายทหาร คงจะเป็นเหมือนในช่วงพลเอกเกรียงศักดิ์จนถึงพลเอกชาติชาย อย่างที่ผู้เขียนได้ไล่เลียงมาข้างต้น คือมีความขัดแย้งกัน และบางทีอาจจะมองไปถึงขั้นที่เป็นความขัดแย้งที่ไปถึง “จุดสูงสุด” นั้นด้วย แต่ข้อมูลชุดนี้น่าจะไม่เป็นจริงอย่างที่กลุ่มสามัคคีประชาชนคิดฝัน เพราะความจริงนั้นทหารยังรวมขั้วเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ได้กระจายกันอย่างที่เกิดขึ้นในยุคก่อน ดังนั้นจึงอาจจะมองได้ไปอีกเรื่องหนึ่งว่า กลุ่มที่กำลังจะก่อม็อบนี้อาจจะต้องการสร้างให้เกิดความวุ่นวาย จนถึงขั้นทำให้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง ให้ทหารตำรวจออกมาฆ่าฟันประชาชน หรือให้ประชาชนฆ่าฟันกันเอง โดยหวังว่าเมื่อเกิดเหตุวิกฤติเช่นนั้นแล้ว “ฝนจากฟ้า” อาจจะหลั่งมา “ชโลมดิน” คือดับวิกฤติได้เช่นเดียวกันกับตอนที่ดับวิกฤติเดือนพฤษภาคม 2535 นั้น
คนที่คิดอย่างนี้คงพูดได้คำเดียวว่า “ช่างคิดได้เลวจริง ๆ”