ทีมข่าวคิดลึก ปมประเด็นที่นำมาซึ่งปัญหาที่กวนหัวใจ"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เวลานี้คงต้องบอกว่า มีมากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องราวทางด้านการเมือง ไปจนถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารนโยบาย ที่มีคะแนนลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเมื่อโฟกัสกันที่แนวรบทางการเมือง ยิ่งพบว่าความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่มาจาก "คนกันเอง" ทั้งสิ้น ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย"ในฐานะฝ่ายตรงข้ามกับ คสช.และรัฐบาลเอง กลับสงบอยู่ในที่ตั้ง ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบและ "ตกที่นั่งลำบาก"สถานภาพของพรรคเพื่อไทยวันนี้ไม่ต่างไปจาก คนที่ "ถูกโดดเดี่ยว"ทางการเมือง อย่างชัดเจน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก็จำต้องอยู่ในอาการ "ไร้หัว"ขาดกำลังใจ เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"อดีตนายกฯ เลือกเดินหน้าหลบหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อพรรคเพื่อไทยไร้หัว น่าที่จะเกิดความระส่ำระสาย แต่กลับกลายเป็นว่า แนวรบที่เต็มไปด้วยความสับสน แถมยังพูดกันคนละคีย์ กลับมาเกิดที่ฟาก คสช. -คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต่างระบุห้วงเวลาของการเลือกตั้ง ที่แตกต่างสร้างความสับสนให้กับสังคม นอกจากวันเลือกตั้งที่ยังกำหนดไม่ได้อย่างชัดเจน ด้วยทั้งเชื่อมโยงกับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แล้ว ล่าสุดยังมีการโยนสูตร "รัฐบาลแห่งชาติ"ขึ้นมาเพื่อหยั่งกระแส เช็กท่าทีของแต่ละฝ่ายว่าจะมีเสียงสะท้อนออกมาอย่างไร "พิชัย รัตตกุล" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้ที่ออกโรงเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยชงให้ "3 พรรคการเมือง" ได้แก่ ประชาธิปัตย์เพื่อไทย และภูมิใจไทย ร่วมกันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อสร้าง "ความปรองดอง" ซึ่งพิชัย มองว่านับวัน การเมืองในบ้านเรา ดูจะห่างไกลจากการปรองดองออกไปมากขึ้นทุกที "ที่พูดมานี้เพื่อให้เกิดความปรองดอง ไม่ใช่การซูเอี๋ย แต่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นศัตรูกับทหาร และมานั่งทำงานร่วมกันปรองดองเพื่อชาติคนที่เลือกทำอย่างนี้ได้คือ พล.อ.ประยุทธ์" ในความเป็นจริงข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นั้นได้ถูกพูดถึงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะหาฝ่ายที่ตอบสนอง เห็นดี เห็นงามด้วยนั้นยากเต็มที ! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขั้วอำนาจใดก็ตามอยู่ในสภาพการณ์ที่ได้เปรียบยึดกุมแต้มต่อทางการเมือง ยิ่งจะเป็นฝ่าย "มองข้าม" สูตรรัฐบาลแห่งชาติที่ว่านี้มากขึ้นทุกที วันนี้สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาได้กำหนดทางเดินของตัวเองเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าโอกาสที่จะเดินไปสู่การเป็น "พรรคฝ่ายค้าน" นั้นน่าจะเป็นไปได้สูง มากกว่าที่ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล ที่ว่ากันว่า คสช.เองตีตั๋วจองเก้าอี้"ผู้นำรัฐบาล" เอาไว้เรียบร้อยแล้วสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ในวันนี้อาจเป็นเรื่องที่ยังยาวไกลเกินไป แม้ กกต.จะโดดออกมาวางกรอบวันเลือกตั้งเอาไว้ที่เดือน ส.ค. 2561 หากแต่ถูก"เบรก" จาก สนช. มิหนำซ้ำ สนช.ยังวางโปรแกรมวันเลือกตั้งลากยาวออกไปจากกรอบที่ กกต.กำหนดไว้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรูปการณ์เช่นนี้ กำลังทำให้ นักการเมือง ตลอดจนกลุ่มต่างๆ เองเริ่มหวั่นไหวว่าที่สุดแล้วสารพัดสูตรการจัดตั้งรัฐบาลนั้นจะทำได้จริงเมื่อใด ในเมื่อที่กำหนดเกมล้วนแล้วแต่อยู่ในมือ คสช.เพียงฝ่ายเดียว !