การประกาศรับรอง พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31มี.ค.64 ที่ผ่านมา กำลังสะท้อนให้เห็น ว่า เวลานี้นักการเมือง ต่างพากันเตรียมแต่งตัวเพื่อรอวันลงสนามเลือกตั้งส.ส.รอบหน้า ซึ่งหากรัฐบาลอยู่จนครบเทอม การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2566 และแน่นอนว่า จากนี้ยังจะมีการขอจดตั้งพรรคการเมืองกันตามมาอีกจำนวนมาก จะด้วยเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ "แตกแบงค์พัน" ตามสไตล์ที่ พรรคเพื่อไทยเคยนำมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อ 24มี.ค.2562 หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด ใครก็ตามที่หวังจะใช้รูปแบบเช่นนี้ต้องหาทาง "ปิดจุดอ่อน" ของตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่าลืมบทเรียนเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยแตกออกไปตั้ง "พรรคไทยรักษาชาติ" จุดประกายความหวังให้นักการเมืองหน้าใหม่ เลือดใหม่ ก่อนที่จะจบลงไม่เป็นท่า ด้วยแพ้ฟาล์ว ถูกยุบพรรค โดยที่ยังไม่ทันได้ลงสนามเลือกตั้ง เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับการรับรองจากกกต.ให้เป็นพรรคการเมือง อย่างเป็นทางการแล้ว ช็อตต่อไปคือการจับตามองว่า พรรคนี้จะเป็น "พรรคสาขา"ของพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลที่มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตกันเอาไว้ก่อนหน้านี้จริงหรือไม่ ? เพราะแม้วันนี้พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นพรรคใหญ่ เป็นแกนนำรัฐบาลก็ตาม แต่ใช่ว่า จะมีความเป็นเอกภาพ จนทำให้บิ๊กป้อม สามารถบริหาร ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อเป็นพรรคใหญ่ อยู่ใกล้กับ "ศูนย์อำนาจ" จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการต่อรองระหว่าง กลุ่มการเมืองเกิดขึ้นตามมา อย่างไม่ต้องสงสัย แน่นอนว่า ด้วยปัญหาข้อนี้ บิ๊กป้อม เองย่อมมองออก เช่นเดียวกับที่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็อ่านเกมได้ไม่ยาก ว่าเป็นพรรคใหญ่ที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา และหากยังคิดที่จะกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งรอบหน้า แม้จะใช้ "กติกาเดิม" คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่า การกลับมาสู่เก้าอี้นายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ รอบที่สาม จะราบรื่น ดังใจนึก ด้วยเหตุนี้ แม้วันนี้จะปรากฎว่ามี พรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นมารอเป็นพรรคสำรอง ก็ใช่ว่า แผงอำนาจของ บิ๊กป้อมและบิ๊กตู่ จะไม่มองหา "พรรคสาขา" เผื่อเอาไว้ ด้วยกันอีกหลายทาง การตั้งพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ภายในพรรคต่างหากที่ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย อย่างน้อยที่สุดสำหรับพรรคพลังประชารัฐ เวลานี้ที่ยังต้องทำหน้าที่เป็น "ฐานอำนาจ" ทางการเมืองให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถูกสั่นคลอนจาก "นักการเมือง" ให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนถึงขนาดที่ว่า บิ๊กป้อม คุมไม่อยู่ ว่ากันว่า ในการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ในราวต้นเดือนเม.ย.นี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคจะมีขึ้นให้ได้เห็น อย่างน้อยที่สุดคือการเปลี่ยนเก้าอี้ "เลขาธิการพรรค" จาก "เสี่ยแฮ้งค์" อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่นั่งเป็นเลขาฯคนปัจจุบัน ไปสู่ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.ยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น หากแต่สมศักดิ์ คือ "เจ้านาย" ของอนุชา การเปลี่ยนแปลงเก้าอี้เลขาฯพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การปรับโหมดเปลี่ยนตัวเล่นเท่านั้น แต่ยังน่าสนใจว่า เมื่อเปลี่ยน "แม่บ้านพรรค" กันแล้ว พรรคพลังประชารัฐ จะต้องเข้มแข็งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ "เอกภาพ"ไปจนถึงเรื่อง "ทุนรอน" ที่จะไม่ใช่ภาระของ หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวอีกต่อไป !