กรณีส.ส.เสียบชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ส่วนตัว เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากรัฐสภาเป็นสถานที่ราชการ และไม่ได้บริการหรืออนุญาตให้บุคคลใดนำรถส่วนตัวมาชาร์จไฟที่อาคารรัฐสภา อีกทั้งจุดที่ชาร์จก็ไม่ใช่จุดที่เตรียมไว้เพื่อให้บริการชาร์จกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะ แต่เป็นการลงมือกระทำเองโดยตัวเจ้าของรถ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนกับการชาร์ไฟแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แม้ส.ส.รายดังกล่าว จะออกมาขออภัยเจ้าหน้าที่ ยอมรับความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ พอดีไฟรถจึงมาเสียบชาร์จระบบไฟฟ้าประกอบกับไม่มีใครมาเตือน จึงไม่ทราบ และไม่ได้แอบชาร์จ เพราะอยู่หน้าประตูทางเข้า-ออกหลักของอาคารอย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีการตั้งเรื่องสอบแล้ว ทั้งนี้ การลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า มีให้พบเห็นบ่อยครั้งกระแสไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ดังนั้น การลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในข้อหาลักทรัพย์ เทียบเคียง คำพิพากษาฎีกาที่ 887/2501 การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม นอกจากสภาฯจะตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังนำความไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็น กรณี ส.ส. นำรถยนต์ของตนมาจอดชาร์จไฟฟรี ที่อาคารรัฐสภาโดยมิได้รับอนุญาต อันถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า การนำรถของตนมาชาร์จไฟเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเจตนา "การลักทรัพย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.334 ประกอบ ม.59 ความว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ที่ออกตามความใน ม.219 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ตามที่กำหนดไว้ใน "มาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ในข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 17 และข้อ 24 ประกอบข้อ 27 อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่อาจปล่อยให้ลอยนวลไปได้ อย่างไรก็ตาม จริยธรรมตามกฎหมายใหม่นั้นมีข้อกำหนดชัดเจน เหมือนกฎหมายอาญา ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน จะได้ข้อยุติว่ามีมูลหรือไม่ โดยพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งนี้ ทั้งนั้น ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว กรณีดังกล่าวจะออกมาอย่างไร ก็เป็นอุทาหรณ์ สำหรับผู้ทรงเกียรติ ในการระมัดระวังการปฏิบัติตน โดยเฉพาะในการใช้ของราชการ ที่เป็นงบประมาณมาจากภาษีของพี่น้องประชาชน บนมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป