แสงไทย เค้าภูไทย รัฐบาลแก้งบดุลติดลบท่วมหัวด้วยการออกกฎหมาย เพิ่มภาษีถึง 4 ฉบับ ตั้งแต่สรรพสามิตไปจนภาษีที่ดิน เก็บยันเกษตรกร เหล้า บุหรี่โดนหนัก อ้างลดคนเสพ แท้จริงกลบหนี้งบประมาณปี 60 ที่บานทะโรค 3.9 แสนล้าน ขณะปีงบประมาณ 61 ที่จะเริ่มหลังสิ้นเดือนนี้ คลังเพิ่มขาดดุลเป็น 4.5 แสนล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ การที่ต้องใช้เงินงบประมาณสูงขนาดนี้ กระทรวงการคลังจึงต้องสั่งกรมและหน่วยงานหารายได้เช่นสรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร ธนารักษ์ ฯลฯ เพิ่มมาตรการทุกด้านในการจัดเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาษีชนิดใหม่ๆ เพิ่มอัตราภาษี เพิ่มค่าเช่า ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ฯลฯ แก้/ปรับ/ออกกฎหมายใหม่ ด้านภาษีอากร 4 ฉบับรวด โดนกันทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่เกษตรกร คนเลี้ยงไก่ชน ตัวนำแถวแรกสุด คือ กลุ่มสินค้าสรรพสามิต ตั้งแต่ 16 กันยายนเป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในทุกหมวดสินค้า แม้จะเชิญภาคเอกชนไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ทว่าเอกชนก็ยังกังวลต่อความซับซ้อน เพราะอัตราภาษีใหม่เปลี่ยนฐานภาษีจากเดิมใช้ “ราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม” หรือ “ราคาหน้าโรงงาน” ที่เป็นราคาขายส่งสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศมาเป็น “ราคาขายปลีกแนะนำ” คือเปลี่ยนจากเก็บภาษีที่ราคาขายส่งมาเป็นเก็บที่ราคาขายปลีก ส่วนสินค้านำเข้า แต่เดิมใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. (C.I.F.) คือราคาสินค้า(cost)+ ค่าประกันภัย( insurance)+ค่าขนส่ง (freight) คือเป็นราคาต้นทุนนำเข้า ก็เปลี่ยนมาเป็นเก็บจากราคาขายปลีก อย่างเช่นภาษีสุราแช่ชนิดเบียร์ แต่ก่อนคิดภาษีหน้าโรงงาน เช่นภาชนะ 0.625 ลิตรขวดละ 30 บาท ก็คิดภาษีที่ฐาน 30 บาท แต่ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่นี้ ให้คิดจากราคาขายส่งช่วงสุดท้ายไม่รวม VAT ที่ราคา 35.00 บาท ดีกรีไม่เกิน 7 ดีกรี ต้องเสียภาษีตามปริมาณ(ดีกรีx ขนาดx อัตราภาษีสรรพสามิต) 6.7813 บาท ภาษีคิดตามขนาดขวดx ภาษีสรรพสามิต 5.000 บาท ภาษีสรรพสามิต 16.8000 บาท รวมเสียภาษี 28.5813 บาท ขึ้นภาษีกันแรงๆเช่นนี้ สรรพสามิตอ้างว่าเพื่อลดการบริโภคสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพเช่นสุรา ยาสูบ เป็นต้น แต่กลับปรากฎว่า ภาษียาสูบ ปรับอัตราจาก 87% เป็น 90% ในปี 2559 แล้วนั้น จำนวนผู้สูบบุหรี่แทนที่จะลดลง กลับยังทรงตัวอยู่ที่ 18-19% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศอยู่ ส่วนเป้าหมายจัดเก็บได้ใน 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.59- ก.ค. 60) ที่ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท ก็ปรากฏว่าเก็บได้ต่ำกว่าเป้าถึง 15.3% โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นแค่ 3.93% เท่านั้น หรือในหมวดสุรา ก็ไม่ต่างกัน ปี 2555 จำนวนคนดื่มสุราทั้งประเทศ 8.8 ล้านคน ปีนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติบันทึกว่า คนไทยยังดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคนหรือ 25 % ของประชากรทั้งประเทศ จำนวนนักดื่มเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งๆที่มีการปรับอัตราภาษีสุราแล้ว ข้ออ้างด้านสุขภาพเพื่อขึ้นภาษีสรรพสามิต จึงไม่เป็นจริงเสมอไป นอกจากภาษีแล้ว ภาระที่ผู้ประกอบการต้องรับเพิ่มอีกก็คือ เงินส่งเข้าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)อีก 2% จากที่เสียภาษีสรรพสามิตเข้าสมทบ เช่นเบียร์ เสียภาษีสรรพสามิตไปแล้วขวดละ 28.5813 บาท เจ้าของเบียร์ยังจะต้องจ่ายอีก 2% ของภาษีสรรพสามิตคือ 0.5716 บาทให้แก่ สสส.ด้วย เงิน 2% นี้ไม่ผ่านคลัง สสส.นำไปใช้ในโครงการสุขภาพเสียเปรอะ ตอนนี้ถูกตรวจสอบเป็นเรื่องเป็นราวอาจถึงขั้นเป็นคดีความอาญา การจะช่วยสังคม ช่วยด้านสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องผ่าน สสส.ก็ได้ ผู้ประกอบการคุณธรรม สร้างกิจกรรมเพื่อการกุศลอย่างเงียบๆเองก็มี อย่างโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ใกล้แยกพญาไท ถนนศรีอยุธยา ที่เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเครือไทยเบฟฯ เบียร์ช้าง สร้างเป็นต้น โรงพยาบาลนี้เป็นของมูลนิธิโรคไตเท่ากับเป็นของเอกชน แต่ข้าราชการเบิกได้ หรือการบริจาคเงินต่อเนื่อง สนับสนุนศูนย์การแพทย์พัฒนา โครงการในพระราชดำริก็เช่นกัน ส่วนการแจกผ้าห่มช้างนั้น กระเดียดไปทางด้านประชาสัมพันธ์ก็จริง แต่ในย่านป่าเขา ดงดอน ถิ่นกันดาร ในฤดูหนาวอันแสนสาหัสนั้น อย่าว่าแต่ผ้าห่มเลย แค่ผ้าขาวม้าผืนเดียวก็มีค่าเหลือคณานับแล้ว