เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
นายเจมส์ วอลเฟนโซห์น อดีตประธานธนาคารโลก (1995-2005) กล่าวไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2000 ว่า “เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ถ้าแก้ได้คงแก้ไปนานแล้ว เพราะโลกไม่ได้ขาดเงิน”
ในการประชุมครั้งนั้นมีการพูดกันเรื่องกับดักของโลกาภิวัตน์ ปัญหาโลกที่คนรวยรวยขึ้นคนจนจนลง ประเทศร่ำรวยได้เปรียบประเทศยากจนมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี นายวอลเฟนโซห์นเตือนว่า ประเด็นดังกล่าวจะต้อง ไม่มองอย่างแยกส่วน แต่มองอย่างเป็นองค์รวม เขาตั้งคำถามเป็นตัวอย่างว่า
“ประเทศนั้นมีรัฐบาลที่ดีหรือไม่ มีระบบกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มีระบบยุติธรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีกฎหมายดี มีผู้พิพากษ์ที่สัตย์ซื่อหรือไม่ มีระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพมีความสัตย์ซื่อ มีความเป็นอิสระ มีระบบสังคมที่ดีหรือไม่ มีการคอรร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด”
ยังเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การสื่อสาร เทคโนโลยี และอื่นๆ อีกที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ซึ่งนายวอลเฟนโซห์นเห็นว่า ถ้านโยบาย ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไม่ดี การบริหารจัดการไม่ดี มีการโกงกินหรือคอร์รัปชั่นมาก ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้
อย่างไรก็ดี เขาได้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาให้มีตลาดที่กว้างขึ้นสำหรับผลผลิตของตน เขาบอกประเทศร่ำรวยว่า “อย่าไปพูดเรื่องการยกหนี้ให้ประเทศยากจนถ้าคุณยังไม่เปิดตลาดให้พวกเขา อย่าไปกระตุ้นประเทศเหล่านั้นให้ทำการผลิตมากๆ ถ้าหากคุณยังไม่เปิดที่ขายให้พวกเขา อย่าพูดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าหากยังไม่พัฒนาการศึกษา”
ในเวลาเดียวกัน เขาได้พูดในอีกหลายที่เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนว่า “คนจนไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์ (charity) คนยากจนต้องการโอกาส..พวกเขามีความตั้งใจ พวกเขาต้องการภูมิใจในตัวเอง พวกเขาต้องการโอกาส ถ้าคุณให้พวกเขาเพียงครึ่งเดียว และให้พวกเขารับผิดชอบ พวกเขาจะทำได้ดี”
“กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา คือ การเปลี่ยนคนจนจากคนที่คุณจะต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือมาเป็นทุนมนุษย์หรือ “สินทรัพย์” (asset) ที่คุณจะต้องให้โอกาสพัฒนา พวกเขาไม่ใช่คนอ่อนแอ พวกเขาไม่ใช่คนทุพพลภาพถึงได้ยากจน พวกเขาจนเพราะขาดโอกาสต่างหาก”
เขาเน้นเสมอว่า การช่วยเหลือประเทศยากจนจะต้องพัฒนาระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุขโดยการให้โอกาสผู้คนได้เข้าถึงการศึกษาและการบริหารด้านสาธารณสุข ให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ของชุมชน
นายเจมส์ วอลเฟนโซน เป็นชาวออสเตรเลีย เติบโตและได้รับการศึกษาที่ซิดนีย์ แล้วไปต่อด้านการบริหารธุรกิจที่ฮาร์วาร์ด มีประสบการณ์ที่หลากหลายทางธุรกิจและการเงิน จนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานธนาคารโลก เขาน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยกย่องชื่นชม (อาจารย์ส.ไม่ค่อยชมใครง่ายๆ ท่านวิจารณ์หรือชมใครด้วยเหตุผลที่น่ารับฟังเสมอ)
เขียนเรื่องนี้เพราะวันนี้ประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาอย่างเต็มทื่ รัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ดี รัฐบาลนี้ก็ดี มีโครงการมากมายในการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งแจกฟรีให้เปล่าและอื่นๆ ด้วยคำอธิบายที่รับฟังได้ว่า ทุกอย่างล้วนต้องทำอย่างสัมพันธ์กัน หรือคำโตๆ ที่ใช้กัน คือ “บูรณาการ”
รํฐบาลรู้อยู่แล้วว่า การแจกเงินช่วยคนจนอย่างเดียวแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ต้องไปพร้อมกับการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ เปิดโอกาสให้คนจนให้กว้างมากขึ้นเพื่อจะได้เรียนรู้ และเข้าถึงทุน เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม
ซึ่งรัฐบาลตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ แผนที่ 1 ผ่านมาหลายรัฐบาลหลายแผนก็พูดเช่นนี้และทำหลายอย่าง แจกทีดินทำกิน (สปก.) นับล้านไร่ แล้ววันนี้เหลือเท่าไรในมือคนจน แม้จะไม่มีสิทธิ์ขาย แต่ก็ขายสิทธิ์ให้นายทุน รัฐบาลสร้างบ้าน สร้างแฟลตให้คนจนอยู่กี่หมื่นกี่แสนยูนิต เพื่อให้ย้ายจากสลัมหรือชุมชนแออัดไปอยู่ที่ดีกว่า แต่ “สลัม” ก็ไม่ได้หมดไป บางส่วนก็เป็นคนที่ได้สิทธิ์ได้บ้านได้แฟลต แล้วย้ายออกไปสร้าง “สลัม” ใหม่ ปล่อยให้คนอื่นเช่าบ้านเช่าแฟลตหรือขายสิทธิ์ไป
ระบบเศรษฐกิจสังคมเป็นองคาพยพเดียวที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน แต่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับแรก คือ การศึกษา เพราะ “คนมีความรู้เปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่า คนไม่มีความรู้เปลี่ยนป่าให้เป็นทะเลทราย” “การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า” นายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักรหลายปีก่อนยังย้ำเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุด 3 อย่างในรัฐบาลของเขา คือ “การศึกษา การศึกษา และการศึกษา”
ไม่เช่นนั้น การพัฒนาก็คงเป็นแค่วิธีการเอาชนะกันทางการเมืองและผลประโยชน์ด้วยตราที่สังคมประทับให้ว่า “ประชานิยม” ซึ่งลึกๆ แล้วเป็นการหลอกชาวบ้าน หลอกคนจน เป็นกับดักที่แท้จริงของการพัฒนา ทำให้คนเสพติดเงิน เสพติดผลประโยชน์ เหมือนเด็กที่ต้องกระเตงตลอด จนเดินเองไม่เป็น
ให้ปลาก็ไม่พอ ให้เบ็ดก็ไม่พอ ต้องให้โอกาสจับปลาด้วย ถึงจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน