สมบัติ ภู่กาญจน์ ประเทศไทย มีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่สามประการ จุดแรกคือ ‘จุดอ่อนด้านการศึกษา’ คำยืนยันนี้ มาจากคำบรรยายล่าสุดของเลขาธิการองค์การOECD (ชื่อเต็มว่าองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งรายละเอียดของที่มาที่ไปนี้ ผมได้กล่าวถึงไว้เมื่อตอนที่แล้ว และตอนนี้เราจะมาพิจารณา ‘จุดอ่อน’ของแต่ละจุดกัน ถ้าผมจะฝากข้อคิดว่า การปล่อยตัวปล่อยใจให้เคยชินกับ ‘พฤติการณ์ก้มหน้า’โดยไม่ควบคุมไว้ให้เหมาะสม ก็จะเป็นการเพิ่มจุดอ่อนด้านนี้แก่ตัวเอง ให้มากขึ้นด้วย ท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ผมอยากให้ทุกท่านโปรดช่วยกันคิด-และพิจารณา ดังที่ทราบกันแล้วว่า ในยุคนี้ คำว่า การศึกษา นั้นครอบคลุมกินความกว้างขวางทุกมิติ โดยไม่จำกัดว่า จะเป็นการศึกษาภาคบังคับ(คือระดับโรงเรียนหรือสูงกว่า) หรือนอกภาคบังคับ ซึ่งมนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ดีพอ จึงจะสามารถประคับประคองตัวเองได้ หรือแข่งขันกับผู้อื่นแล้วมีโอกาสชนะได้ ใครที่มีจุดแข็งด้านการศึกษา คนๆนั้นก็จะง่ายต่อการประสบความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม ใครที่มีจุดอ่อนด้อยด้านการศึกษา ความสำเร็จของคนๆนั้นก็คงพบได้ยากขึ้น หรือจะไปแข่งขันกับใครแล้วหวังจะให้ชนะ ก็คงยากเต็มที ทำไมผมจึงฝากข้อคิด ว่า การเคยชินกับพฤติกรรมก้มหน้า อย่างไม่ระมัดระวังสติ จึงเป็นการเพิ่มจุดอ่อนด้านการศึกษา? ตอบได้ว่า – เพราะการที่มนุษย์ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นประจำและเคยชิน จะทำให้มนุษย์นั้น ‘ติด’ ดังเช่น การติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดการพนัน ติดละคร ติดเกม และติดฯลฯอีกสารพัดอย่าง ก็เกิดจากอาการติดที่กล่าวนี้ เมื่อมนุษย์ติดในสิ่งที่ตนเองทำประจำทำจนชิน แล้วมนุษย์ก็จะ เทใจให้กับการเสพติดนี้ จนเหลือ ‘เวลา’ ให้กับสิ่งอื่นๆ ที่มนุษย์ก็ควรทำด้วย น้อยลงไป เวลา ที่มนุษย์ควรจะมีให้กับการเรียนรู้สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลก ซึ่งมีมากกว่าสิ่งที่ถูกตั้งใจบรรจุไว้ในจอสี่เหลี่ยม ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไปหมด เพราะความติด จะทำให้มนุษย์เห็นจอสี่เหลี่ยมว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต คิดอะไรไม่ออก ก็กด-ก้ม-ดู ในจอสี่เหลี่ยมนั้น! รัก-ชอบ-โกรธ-เบื่อ-ใคร ก็หันไปที่จอสี่เหลี่ยมนั้น! จอสี่เหลี่ยม กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ไปทีละน้อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ หลายคนไม่เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือ ที่นักปราชญ์หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จทุกคนในโลก ต่างยืนยันว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้หรือการศึกษาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลก เพื่อให้เกิดความคิด แล้วการตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีกว่าก็จะเกิดขึ้นมา ไม่เห็นความสำคัญของการมองผู้คน การฟัง การคิด การถาม การซัก รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคม อีกสารพัดวิธี สารพันรูปแบบ แม้จะมีเสียงยืนยัน จาก‘นักเสพติดจอ’บางคน ที่ยืนยันว่า ทุกวันนี้เขายังอ่านอยู่ ยังหาความรู้อยู่ แต่อ่านเพื่อรู้จากจอซึ่งเป็นเครื่องใช้ยุคใหม่ที่ทันสมัยกว่าอ่านจากกระดาษ ซึ่งเป็นวัตถุโบราณ(ที่ใครอยากทำก็ทำไป ไม่เห็นจะต้องว่ากัน) ซึ่งผมคิดว่า การถกเถียงกันในประเด็นนี้ คงไม่มีประโยชน์อันใดนัก แต่สิ่งที่เห็นได้แน่นอนที่สุด ก็คือ เวลา ที่มนุษย์ใช้กับการก้มหน้าดูจอ นั้น กำลังแย่งเวลาที่มนุษย์ควรจะได้พบ/เห็น/เรียนรู้ โลกในอีกหลายๆด้านไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเวลาสำหรับสิ่งอื่นก็คงจะไม่มีเหลือ! ถ้ามนุษย์จะไม่คิดควบคุมตัวเอง ไม่ให้ก้มหน้ามากเกินไป ได้ด้วยวิธีใด ทุกวันนี้ มนุษย์หลายคน ใช้เวลา‘ในโลกของตัวเอง’กว้างขวางขึ้น จากในพื้นที่ส่วนตัว ไปสู่พื้นที่สาธารณะ การกระทำดังกล่าว แม้จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้สาธารณชนหรือสังคมก็จริงอยู่ แต่จะทำให้สวัสดิภาพของมนุษย์(ผู้นั้นเอง)ก็ดี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมก็ดี การระวังป้องกัน ที่มนุษย์ผู้หนึ่งพึงจะมีต่อมนุษย์ผู้อื่นในสังคม ก็ดี ลดน้อยถอยลงไป ทำให้การมองเห็นโลกนอกตัวเอง(ของมนุษย์ผู้นั้น)ลดลงไปเรื่อยๆ และทำให้โอกาสที่มนุษย์จะได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งอื่นๆ น้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน เราแน่ใจแค่ไหนว่า การก้มหน้าของเรา(โดยไม่สนใจต่อสิ่งต่างๆ) จะไม่เกี่ยวข้องกับจุดอ่อนด้านการศึกษา ที่เขาบอกมา ทุกวันนี้ สังคมไทยของเรามีหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ใช่รัฐ ที่พากันประสานเสียงส่งเสริมนโยบายเรื่องสตาร์ทอัพ เรื่องไทยแลนด์4.0 เรื่องการใช้ออนไลน์ ที่ทันสมัยขึ้นเรื่อยๆในแวดวงธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน ในสังคมที่มีจุดแข็งด้านการศึกษา เขากำลังบอกผู้คนของเขาให้รู้จักทั้งออนไลน์และออฟไลน์ว่าคืออะไรและดีอย่างไร ทุกวันนี้มีหน่วยงานของรัฐที่จะให้ความสนใจกับแนวคิดนี้อย่างไรแค่ไหน ผมยังไม่ได้ยินในปัจจุบัน! เงยหน้าขึ้นมาพิจารณาจุดอ่อนกันดีไหมครับ แค่จุดอ่อนแรก การก้มหน้ามากเกินไปก็ไม่สามารถจะแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้แล้ว ยังมีจุดอ่อนของประเทศไทยอีกสองจุด คือ จุดอ่อนด้านนวัตกรรม และจุดอ่อนด้านแก่ก่อนรวย ซึ่งฟังแค่ชื่อก็น่าสนใจ ที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันคิดว่า การปล่อยใจให้ตัวเอง หรือคนส่วนใหญ่ ก้มหน้าต่อไปจนติด โดยไม่คิดแก้ไข จะทำให้จุดอ่อนเหล่านี้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น?