ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอความคิดเห็นที่สำคัญเกี่ยวกับ “มหาเถรสมาคมกับอธิกรณ์” ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิกฤติในพระพุทธศาสนา” ณ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2432 มีเนื้อความสำคัญดังนี้ “การพิจารณาเรื่องต่างๆของมหาเถรสมาคม กระผมกล่าวก็ต้องยกมือนมัสการเสียก่อน ใจกระผมเองก็รู้สึกว่าท่านอาศัยหลักนิติศาสตร์มากไป ท่านดูในเรื่องกฎหมาย ท่านมีอำนาจหน้าที่แค่ไหน ไม่มีแค่ไหน ท่านนั่งเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องกฎหมายอยู่อย่างนี้ จนในที่สุดก็เลยทำอะไรไม่ค่อยได้ ท่านถูกกฎหมายมัดตัวท่านเอง ท่านนั่งอยู่ แล้วกฎหมายมัด กลายเป็นพระพุพทธรูป กลายเป็นพระประธานไป กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ เพราะแรงกฎหมายบังคับ ถ้าท่านจะไม่สนใจกฎหมายเท่าใด ท่านนึกว่าท่านเป็นสงฆ์ เป็นผู้ปกครองสงฆ์ เป็นผู้ที่จะต้องอุปการะสงฆ์ในทางเมตตากรุณาและจะต้องลงทัณฆ์แก่สงฆ์ ทำนิคหกรรมแก่สงฆ์ที่ประพฤติผิดนอกรีตนอกรอย ท่านนึกเสียอย่างนั้น แล้วก็ไม่ระแวงกฎหมาย ไม่พยายามระมัดระวังในแง่กฎหมายจนเกินไปแล้ว กระผมคิดว่าอุปสรรคต่างๆ และวิกฤติต่างๆในพระพุทธศาสนาก็คงจะเบาบางลงไปได้ การกระจายอำนาจของมหาเถรสมาคมนั้น จะเป็นด้วยการทำงาน หรือด้วยบังคับอื่นใดก็ตามที ก็น่าจะป้องกันอะไรได้หลายอย่าง คือถ้าเรามีเจ้าหน้าที่รับมอบหมายมา มาคอยดูแลเรื่องอะไรมันจะเกิด ใครจะไปสำเร็จโสดาปัตติผลที่ไหน ก็ให้เจ้าหน้าที่นั่นแหละเขาคอยดูกัน ไม่ต้องให้ถึงมหาเถรสมาคม เกิดเรื่องพระอริยบุคคล จะให้พระเถระท่านทำอะไร ถ้ามีอะไรอยู่ใกล้ๆคอยระงับปราบปรามได้ มันก็พอพูดกัน เรื่องเล็กมันก็ไม่น่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่น่าหัวเราะ มันก็จะไม่กลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาแก้ อุปสรรคทั้งหลายตลอดจนวิกฤตการณ์ต่างๆ ก็น่าที่จะเบาบางลงไปได้ เพราะฉะนั้น การปกครองสงฆ์นั้น นอกจากจะมีการผ่อนหนักผ่อนเบา ทางด้านกฎหมาย ทางด้านระมัดระวังหรือระแวงจนเกินไปแล้ว กระผมก็คิดเห็นว่า จะต้องเคร่งครัดและเข้ามงวดทางด้านพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง คือ ความจริงระเบียบอะไรก็ตาม กฏอะไรก็ตามทีที่จะใช้ปกครองสงฆ์นั้น ควรจะตรงกับพระธรรมวินัยทุกข้อ ไม่ควรจะคลาดเคลื่อน หรือไม่ควรว่าจะเป็นการอนุโลม หรืออะไรอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง กระผมคิดว่า เรารักษาพระธรรมวินัยกันไว้ให้เคร่งครัดแล้ววิกฤติต่างๆก็ไม่เกิด เพราะพระธรรมวินัยนั้นเองเป็นเครื่องป้องกันวิกฤติในคณะสงฆ์อยู่แล้ว... เพราะฉะนั้น ในเรื่องเหล่านี้ คือในเรื่องกระจายอำนาจ ในเรื่องรักษาพระธรรมวินัยเหล่านี้ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสงฆ์ จะเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลลงไป ตลอดจนพระที่มีหน้าที่อื่นๆจะต้องอาศัยพระธรรมวินัย คือดูว่า ท่านผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนั้นท่านเป็นอยบ่างไรในพระธรรมวินัย ท่านประพฤติดี ประพฤติชอบ เคร่งครัดดีอยู่หรือ หรือว่าท่านเป็นคนย่อหย่อนเอายังไงก็ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่น่าจะแต่งตั้ง แต่งตั้งพระที่เคร่งครัดพระวินัยไว้เห็นจะดีกว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระผู้ใหญ่เห็นจะต้องสนใจในการตั้งพระหน้าที่ต่างๆ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เป็นต้น ให้มากกว่าแต่ก่อน ไม่ใช่ว่าปล่อยเลยตามเลย ปล่อยตามยถากรรม แล้วก็เกรงใจกัน ไม่อยากจะให้เดือดร้อนกับใคร ถ้าอย่างนั้น วิกฤติเกิด ไม่มีทางแก้ได้ เราก็จะได้เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลออกมา ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติขึ้นได้ เป็นเหตุให้เกิดขึ้นในระหว่างสงฆ์เอง หรือในระหว่างชาวบ้าน ทำสิ่งที่เขาไม่ต้องการ”