ทวี สุรฤทธิกุล
โลกดิจิทัลอาจจะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยใหม่ที่ประชาชนเข้าใช้อำนาจโดยตรง
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับ”ความไม่เอาไหน” ของระบอบรัฐสภาไทย ก็ทำให้บางคนคิดถึงการสร้างสรรค์ระบบการเมืองแบบใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะตลอดเวลา 89 ปีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ระบอบรัฐสภาของไทยมีแต่สภาพที่ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากความอ่อนแอของนักการเมืองไทย ที่ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงและเป็นที่น่าเคารพนับถือของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้ผ่านการเลือกตั้งนั้นไปรับใช้ผู้มีอำนาจอื่น จนต้องมีการเดินขบวน “ทวงอำนาจ” อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในทุกวันนี้ที่มีการเรียกร้องจนถึงขั้นที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองระบอบใหม่ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยใหม่” นั้น
ระบอบประชาธิปไตยใหม่เป็นแนวคิดที่ต้องการ “คืนอำนาจสู่ประชาชน” เพราะระบอบประชาธิปไตยเก่าที่ใช้กันมานานไม่ประสบความสำเร็จในการพิทักษ์ประโยชน์ให้กับประชาชน ในหลาย ๆ ประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบกึ่งเผด็จการ นักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไปกลับไปร่วมแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมกันกับผู้มีอำนาจ ทำให้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องและทวงสิทธิอำนาจของพวกเขากลับคืน อย่างในกรณีของประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ระบอบทหารมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็กำลังถูกท้าทายด้วยมวลชนคนยุคใหม่ ที่แสดงความรังเกียจระบอบทหารและออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนกลัวว่าอาจจะเกิด “Generation War” หรือ “สงครามระหว่างคนต่างยุค” ที่อาจจะนำไปสู่หายนะของประเทศไทยได้
หากจะย้อนยุคไปถึงสมัยกรีกที่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่นั่นเป็นชาติแรก ๆ เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน ก็เป็นด้วยความสำนึกใน “สิทธิพลเมือง” คืออำนาจของความเป็นเจ้าของชุมชน “ความเป็นคนของเมือง” (Citizen) ที่ต้องทำมาหากินและอยู่ร่วมกันในชุมชน เขาก็ย่อมร่วมกันพิทักษ์ผลประโยชน์ต่าง ๆ ของพวกเขา ซึ่งก็เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่มีอันจะกินหรือมีการศึกษาเป็นกลุ่มแรก ๆ แล้วก็เชิญชวนคนที่มีสำนึกและมีสถานภาพแบบเดียวกันนี้มาพูดคุยปรึกษาหารือกัน ที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรง เพราะทุกคนเข้ามาร่วมปรึกษาหารือและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกันนั่นเอง แรก ๆ ก็คงมาประชุมกันตามที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น ตลาด และโรงอาบน้ำสาธารณะ จนกระทั้งเกิดสถานที่ที่ใช้ประชุมกันอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า Senate แล้วก็มี Senator ซึ่งก็คือบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ปรึกษาหารือกัน ที่อาจจะเรียกได้ว่า “ระบอบรัฐสภา” นั้นได้เกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้จากการที่ผู้เขียนได้ติดตามปรากฏการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยใหม่ในโลกสมัยใหม่ อย่างในกรณีของอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็มีแนวคิดที่ย้อนยุคไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงในแบบนั้น รวมถึงที่กลุ่มม็อบเยาวชนของไทยในขณะนี้ก็ต้องการที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงในแบบนั้นเช่นเดียวกัน โดยใช้การเร้าระดมด้วยกระแส “การฟื้นฟูคณะราษฎร” ในแนวที่ว่า “สืบสานภารกิจของคณะราษฎร” ดังที่เราได้เห็นเป็นความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้
ในขณะที่การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ล้มเหลวไปแล้ว จากการเล่นปาหี่ของรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ตามมาด้วยข่าวที่ว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประชามติกำลังจะถูก “ทำแท้ง” ด้วยการประวิงเวลาและหาข้อบกพร่อง(ที่ฝ่ายรัฐบาลนั่นแหละมีเจตนาสร้างขึ้น) ให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ออกมาใช้โดยเร็ว ที่เกี่ยวเนื่องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตกไป เพราะถ้าจะเสนอแก้ไขใหม่จะต้องไปทำประชามติก่อน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะต้องรอกฎหมายประชามติฉบับนี้ด้วย โดยที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จประกาศใช้ได้เมื่อไหร่
จากที่ได้ติดตามรับฟังการพิจารณาในขั้นของกรรมาธิการ หรือในวาระ 2 ที่มีการพิจารณาเนื้อหาในรายละเอียดเป็นรายมาตรา มีสาระสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือการลงคะแนนเพื่อการแสดงประชามติด้วยเครื่องมือทางอิเล็คโทรนิค นั่นก็คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในลงคะแนนดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้ในความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่เพียงแต่จะเป็นการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ให้เต็มที่แล้ว ยังจะเป็นการ “พลิกโฉม” การเมืองในยุคใหม่ ที่ประชาชนสามารถที่จะแสดงออกซึ่ง “สิทธิอำนาจ” ต่าง ๆ ได้โดยตรงอีกด้วย
ลอกนึกภาพดูว่าต่อไปถ้าประชาชนอยากจะให้รัฐบาลทำอะไร แล้วเสนอให้รัฐบาลทำประชามติ ซึ่งในร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ให้ประชาชนสามารถร่วมกันเสนอได้ ก็จะนำไปสู่ “ประชาธิปไตยทางตรง” ที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจจะทำให้ระบอบรัฐสภา “หมดความหมาย” เพราะประชาชนไม่ต้องใช้อำนาจผ่านสมาชิกรัฐสภาอีกต่อไป ที่รวมถึงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและระบบพรรคการเมือง ก็อาจจะหมดความสำคัญไปด้วย เพราะประชาชนไม่ต้องอาศัยบรรดานักการเมืองเหล่านั้นเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอีกต่อไป อีกทั้งยังอาจจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากการทำหน้าที่อย่างบกพร่องของสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้นนั่นด้วย ที่ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงหรือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างที่ควรเป็น ทำให้ประชาชนต้องออกมาประท้วงเพื่อดำเนินการเรียกร้องต่าง ๆ ด้วยตนเอง อย่างที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในขณะนี้
อนึ่ง การเมืองในยุคใหม่มีรายละเอียดในความต้องการของผู้คนแยกย่อยกันมาก การรวมกลุ่มผลประโยชน์ตามแบบเดิมในระบบพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มกดดันในรูปแบบเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้หรือไม่ได้ผลตามที่ประชาชนแต่ละคนต้องการ ความเป็นปัจเจกอันเกิดจาก “อัตตา” ที่ปรากฏขึ้นเป็นปกติในโลกการสื่อสารสมัยใหม่ ได้ทำให้คนเรามีความคิดที่แตกต่างออกไปจากความคิดของกลุ่ม ซึ่งการทำประชามติจะช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้ ด้วยการให้คนแต่ละคนมีความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่ต้องไปยึดอิงกลุ่ม ทำให้รัฐบาลต้องฟังเสียงทุก ๆ เสียงของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบดิจิทัลที่มีการจัดทำข้อมูลเก็บรวมรวมไว้ เช่น การใช้คลาวด์ และบิ๊กดาต้า ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว ถ้ารัฐบาลรู้จักนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และนำไปใช้ประโยชน์ เหมือนอย่างที่รัฐบาลกำลังเก็บรวมรวมข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชน ผ่านโครงการแจกจ่ายเงินต่าง ๆ ของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
โลกดิจิทัลไม่เพียงแต่สร้างประชาธิปไตยใหม่ แต่เราอาจจะได้รัฐบาลแบบใหม่ที่เข้าใจประชาชนมากขึ้นอีกด้วย