แม้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทย จะยังไม่แตะหลักแสน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2564) โดยตัวเลขจากศูนย์ข้อมูล COVID -19 รายงานว่า ณ วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม มีผู้รับวัคซีนทั้งสิ้น 69,927 รายจากที่เริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กระนั้นก็ตาม มีความพยายามที่จะพิจารณาแนวทางในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว เช่น มาตรการเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต และการลดเวลาการกักตัว รวมทั้งการใช้เวลากักตัวที่สนามกอล์ฟ เรือยอร์ช ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หากสามารถคุมโควิดและการฉีดวัคซีนตามแผน ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จนเป็นอุปสรรคต่อแผนการเปิดประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าทั้งปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีโอกาสแตะที่ 2 ล้านคน ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ กล่าวว่าภายหลังการประชุมถึงการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศว่า ได้มีการเตรียมการรับมือการลดวันกักตัว กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแล้วเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ MRA (Mutual Recognition Arrangement for ASEAN Tourism Professionals: MRA ) หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน โดยเป็นการเจรจา 2 ฝ่ายที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการกับการฉีดวัคซีนกับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นหลายประเทศที่ไม่ติดวีซ่า เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ โดยการเจรจาสองฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศจะเจรจาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าประเทศใดเหมาะสมที่จะทำข้อตกลงดังกล่าว เพื่อเปิดทางดำเนินการด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจการอื่น ส่วนความเป็นไปได้ในการเริ่มดำเนินการวัคซีนพาสปอร์ตนั้น นายดอน กล่าวว่า อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้ข้อยุติแล้วกระทรวงการต่างประเทศจะทำแผนการดำเนินการ ซึ่งผู้ที่มีใบรับรองพาสปอร์ตวัคซีน ไม่ใช่ว่าจะปลอดโรค โดยผู้ที่จะได้พาสปอร์ตวัคซีนจะต้องได้ อย่างไรก็ตาม มีเสียงทักท้วงจากบุคคลากรทางการแพทย์ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่า หากมีการเปิดประเทศเพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน จะโดยใช้วัคซีนพาสปอร์ต และหรือลดวันกักตัวก็ตาม จะมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำซากกันไปอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์แต่ละประเทศนั้นยังระบาดกันรุนแรง สายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ก็มีความต่างกัน รวมถึงชนิดของวัคซีนที่ใช้ก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ยิ่งหากประเทศใดมีการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำกัด ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และมีสรรพ คุณในการป้องกันการเจ็บป่วยน้อย รวมถึงไม่สามารถป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ต่างๆ ได้ จะประสบกับหายนะการระบาดอย่างหนักหน่วงได้ ขณะที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการป้องกันไม่ให้สายพันธุ์โควิด ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างเช่นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ รวมทั้งสายพันธุ์ที่กำลังตรวจสอบอย่าง เช่น สายพันธุ์ไนจีเรียเข้ามาระบาดในประเทศไทย เราเห็นว่า การพิจารณามาตรการเปิดประเทศทั้งวัคซีนพาสปอร์ต และการลดวันกักตัวจำเป็นจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รัดกุมสูงสุด เพื่ออุดช่องโหว่ให้ได้ทุกประตู เพราะก็เห็นๆกันอยู่ว่า ลักษณะเฉพาะของประเทศไทย ที่ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในวงกว้างที่ผ่านมา มักเกิดจากการอาศัยอภิสิทธิ์ และการคอร์รัปชัน ทำให้มีเชื้อเล็ดลอดหลุดเข้ามา เป็นภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ และพี่น้องประเทศชาชน ดังนั้นหากจะเปิดประเทศ ก็ต้องตรึงให้น็อตทุกส่วนขันแข็ง ไม่เช่นนั้นจะได้ไม่คุ้มเสีย ตราบใดที่คนในประเทศยังไม่มีวัคซีนที่เป็นตัวช่วยในการป้องกันตัวอย่างทั่วถึงและครอบคลุม