รัฐบาลของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าของรหัส "สนามไชย1" ปรากฎ "จุดอ่อน" ให้เห็นอยู่หลายครั้ง หลายครา แต่ดูเหมือนว่าการโจมตีจาก "ฝ่ายตรงข้าม" ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและนอกเวทีสภาผู้แทนราษฎร กลับยังไม่มีความแรงมากพอ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง! จนทำให้เกิดแรงกดดันกลับไปยังบรรดาฝ่ายตรงข้ามด้วยกันเองว่า "ไร้ฝีมือ" มากพอ แถมยังเป็นการรุกไล่ รบราที่ไม่มีรูปแบบ ไร้ทิศทาง ประกอบกับการที่ "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ด้วยกันเองยังไม่สามัคคีกันอย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกับการที่ มวลชนนอกสภาฯ ในนาม ม็อบราษฎร และแนวร่วมเครือข่ายที่วันนี้มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เคยปรากฎ "3ข้อเรียกร้อง" ได้แก่ 1.ให้นายกรัฐมนตรี ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลายเป็นว่าวันนี้ การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมในห้วงระยะหลัง คือการกดดันรัฐบาลเพื่อให้ ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมตัวดำเนินคดี ในหลายข้อหา มากกว่าที่มุ่งหน้าผลักดัน 3ข้อเรียกร้องหลักๆอีกต่อไป เกมการต่อสู้ระหว่าง "พรรคฝ่ายค้าน" ในเวทีรัฐสภา นั้นอาจไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องของการเป็น เสียงข้างน้อย มีเสียงในรัฐสภา น้อยกว่า ฝ่ายรัฐบาล เมื่อผนวกเข้ากับส.ว.เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว กลับเกิดปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนอยู่ลึกๆว่า แท้จริงแล้ว ส.ส.ในปีกพรรคฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อย ต่างต้องการ "เปลี่ยนขั้ว" ย้ายข้างมาอยู่กับฝั่งรัฐบาลเช่นกัน ทั้งที่เปิดหน้า และที่ยัง "ต่อสาย" เปิดดีล กันเอาไว้เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม ขณะที่การเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เวลานี้ แม้จะมีการชุมนุมเมื่อได้รับ "สัญญาณ" จากแกนนำม็อบแถวสอง แถวสาม ระดมกันผ่านโลกโซเชี่ยล ภายในเวลาไม่กี่นาทีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว พบว่าในส่วนแนวร่วมเองก็พยายามขอให้ผู้ชุมนุม หยุดใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุ ตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วม็อบราษฎร จะเลยธงไปจากการต่อสู้ในวิถีแห่งสันติ และจะกลายเป็นฝ่ายถูกดำเนินคดี เหมือนที่มีให้เห็นจากเหตุการณ์ชุมนุมที่หน้าศาสฎีกา สนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เสียงลือ กระแสที่ผุดขึ้นมา เป็นระยะๆ ในช่วงนี้ จึงปะปนกันไปทั้งการเสนอให้ "เปลี่ยนตัวแกนนำ" ให้เปลี่ยนไปใช้ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ที่มีประสบการณ์มากกว่าแกนนำที่เป็นเยาวชน ตลอดจนมีการส่งเสียงเตือนจากแกนนำด้วยกันเองว่าใช้ทำอะไรที่เป็นการ "เข้าทาง" ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะคดีเก่าทั้งการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน , การทำลายทรัพย์สินทางราชการ ไปจนถึงการมีพฤติการณ์ทำความผิดในลักษณะดูหมิ่น จาบจ้วง อาฆาตมาดร้าย สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ก็ถือว่าหนักหนาพอแรงอยู่แล้ว ยังไม่รวมถึงการที่มีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ "ทุกคน" ที่จะได้รับการ "ดูแล" เมื่อเปรียบเทียบกับ "แกนนำ" ระดับแม่เหล็ก ปัญหาของฝั่งตรงข้ามรัฐบาล เวลานี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ฝ่ายค้านมีกี่เสียงในสภาฯ หรือการชุมนุมที่มีความพยายาม "ยกระดับความรุนแรง" เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. หากแต่อยู่ที่การเดินหน้ารุกไล่รัฐบาล ที่ไม่เป็นกระบวน ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นการ "ต้อน" ตัวเอง ให้เป็นฝ่าย "เข้ามุม" เสียเอง !!