ดูเหมือนมหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์จะไม่จบง่ายๆ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท.และกระทรวงคมนาคมจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ประเทศไทย จำกัด 2.4 หมื่นล้านบาท ตามคำพิพากษาอนุญาโตตุลาการนั้น
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากคดีเดิมนั้น รฟท.และกระทรวงคมนาคม ฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่าคดีขาดอายุความ เนื่องจากโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเกินกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้แห่งการเสนอข้อพิพาท ซึ่งศาลปกครองพิพากษาให้ถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต่อมาโฮปเวลล์ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และได้มีความเห็นว่าไม่ขาดอายุความ และให้บังคับไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้รฟท. และกระทรวงคมนาคมไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดขัดกับกฎหมายอื่นๆในปัจจุบันหรือไม่
นำมาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2545 เกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะแม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง เปิดช่อง ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมยื่นรื้อคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ข้อพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นเดือนมกราคม ปี 2541 นับจากวันที่ ครม.มีมติบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์อย่างเป็นทางการ ซึ่งในขณะนั้นการนับอายุความคดีปกครอง ต้องใช้ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่กำหนดอายุความคดีปกครองไว้แค่ 1 ปี เท่ากับคดีนี้ต้องหมดอายุความในปี 2542 แต่โฮปเวลล์ไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการในปี 2547 ถือว่ากรณีนี้หมดอายุความไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด แม้ว่าในภายหลังจะมีการแก้ไขมาตรา 51 เพิ่มอายุความจาก 1 ปีเป็น 5 ป และไม่เกิน 10 ปี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะมีข้อพิพาท
นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าจะนับอายุความตามกฎหมายมาตรา 51 ที่มีการแก้ไขใหม่ อายุความก็จบลงที่ปี 46 แต่โฮปเวลล์ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการปี 47 ถือว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว และจะนำเรื่องอายุความ 10 ปีที่กำหนดไว้ในมาตรา 51 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากต้องเป็นกรณีที่ไม่ทราบว่าเหตุพิพาทเกิดขึ้นเมื่อใด แต่กรณีนี้มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาชัดเจนในปี 2541 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่องให้นับอายุความตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปใช้การนับอายุความตามมาตรา 51 ซึ่งถือว่าคดีนี้หมดอายุความไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าคดีนี้แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติในเร็ววัน แต่ก็พอมองเห็นแนวโน้มที่มีสัญญาณดี และหวังไปไกลถึงว่าที่สุด อาจไม่ต้องจ่ายค่าโง่