รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) พบว่า แรงงานข้ามชาติไหลเข้าประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ชาติในอาเซียนที่พบเจอสถานการณ์คล้าย ๆ กันก็คือ มาเลเซียที่มีแรงงานข้ามชาติอพยพเข้าไปทำงานอยู่ไม่น้อย ส่วนประเทศในอาเซียนที่มีแรงงานไหลออกมากที่สุดคือ เมียนมา
ช่วงต้นปี 2564 หลังจากโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดการระบาดขึ้น ก็มีรายงานตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยจำนวนถึง 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพก่อสร้าง ทำการเกษตร และทำปศุสัตว์
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นเป็น “จุดหมายปลายทาง” ของแรงงานข้ามชาติ ที่มองว่าประเทศไทยนั้นตอบโจทย์เรื่องการดำรงชีพ อีกทั้งนิสัยใจคอของคนไทยที่ “ใจดี” “ยิ้มง่าย” ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทยน่าเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินมากยิ่งขึ้น
แรงงานอพยพข้ามชาติที่เข้ามานี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำ ที่ได้รับค่าจ้างต่อเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเกิดเมืองนอนที่ตัวเองจากมาแล้ว ก็ยังพบว่าเป็นจำนวนเงินไม่น้อยอยู่ดี ดังนั้นเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้แรงงานอพยพข้ามชาติเข้ามาอยู่ที่ไทย ก็คือ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของบ้านเราที่สูงกว่าประเทศบ้านเกิดของตนนั่นเอง
นอกจากนี้ยังพบว่า สาเหตุของแรงงานอพยพไม่ใช่มีแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ระยะหลังเริ่มมีการอพยพเพราะวาระซ่อนเร้นมากขึ้น ทั้งภัยการเมือง หรือการลี้ภัยแอบแฝง ซึ่งการอพยพจำพวกหลังนี้บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงความมั่นคงภายในประเทศด้วย
ปัญหาเรื่อง “แรงงานอพยพ” ไหลเข้าประเทศไทยนี้ เป็นปัญหาที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน จะเห็นได้จากบางพื้นที่ที่มีแรงงานอพยพจำนวนมาก สามารถตั้งหลักปักฐานกลายเป็นพื้นที่ชุมชนของตนเองได้เลยทีเดียว ร้านค้า ป้ายภาษาบ้านเกิดของตนเองก็มีให้เห็นจำนวนมาก หากมองในเชิงบวกก็กลายเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม แต่พอมองอีกทีก็กลายเป็นว่า “คนไทยใจดี” นั้นมีอยู่จริง
เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” โดยสำรวจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ความคิดเห็นที่มี “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” ณ วันนี้
ประเด็นที่ 2 สาเหตุของ “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” คืออะไร
ประเด็นที่ 3 จากกรณี “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การลักลอบเข้าเมือง ความปลอดภัย งบประมาณ เป็นต้น
ประเด็นที่ 4 รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไร ควรป้องกันหรือรับมืออย่างไร ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด
และประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ 5 เปรียบเทียบการที่มีแรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย มีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน
เรื่องแรงงานอพยพข้ามชาตินี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับมือด้วยความระมัดระวัง และต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ดูอย่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ที่แก้ปัญหาเรื่องแรงงานต่างชาติอย่างเด็ดขาดและรุนแรงจนกระทบต่อเก้าอี้ประธานาธิบดีของตนเองในที่สุด!
พูดง่าย ๆ ปัญหา “แรงงานอพยพข้ามชาติ” คงมีให้เห็นอีกนาน ถ้าต้องการให้เป็น “ตำนาน” นั้นดูจะยาก ... แต่ถ้าจะให้เป็น “แรงงานร่วมสมัย” ดูจะง่ายกว่าเป็นกอง
ทิศทางจะเป็นอย่างไร? … ต้องติดตาม “สวนดุสิตโพล” สัปดาห์นี้ครับ !