ในช่วงที่ผ่านมามีประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ สะท้อนสัญญาณดีสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ ระดับ 49.4 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยเริ่มปรับตัวลดลง ประกอบกับการเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถาการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความวิตกกังวล และมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ "เราชนะ" และโครงการต่างๆ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุด้วยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพโดยรวมทั้งในปัจจุบันในเดือน กุมภาพันธ์2564 อยู่ที่ 39.5 และอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 41.3 ฟื้นตัวขึ้นจาก 37.2 และ 38.8 ในเดือน มกราคม 2564 ทั้งนี้ ดัชนีฯ กลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าการระบาดในรอบแรก โดยเมื่อเทียบกับช่วงคลายล็อกดาวน์ในเดือน พฤษภาคม 2563 ดัชนีปรับขึ้น 2.9% จากเดือน เมษายน2563 แต่ในครั้งนี้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึง 6.3% จากในเดือน มกราคม 2564 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดในรอบใหม่นี้ไม่ได้มีการปิดเมือง และเน้นเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหนัก อีกทั้ง ภาคครัวเรือนและธุรกิจได้เรียนรู้วิธีรับมือจากการระบาดในรอบก่อน
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน กุมภาพันธ์2564 อยู่ที่ระดับ 85.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม2564 โดยค่าดัชนี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐ อาทิ การอนุญาตให้สถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติ การขยายเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านถึง 23.00 น. รวมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ รวมทั้งการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.0 จากระดับ 91.1 ในเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตขยายตัว รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ และจีน มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
แม้แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่จากคลัสเตอร์โควิดลาดบางแค ยังเป็นประเด็นให้ต้องกังวล โดยเฉพาะเมื่อใกล้เทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองนอกสภาฯ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมไร้แกนนำและยกระดับให้สูงไปกว่าประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทย