เรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำทีมฉีดวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด -19 ของแอสตร้าเซเนก้า ขณะเดียวกันสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยัน การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทย โดยสยามไบโอไซเอนซ์มีความก้าวหน้าและควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิดจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้แก่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตามกำหนด ในช่วงกลางปี 2564 โดยจะทยอยส่งมอบในอัตราเดือนละ 5-10 ล้านโดส จนครบ 61 ล้านโดส
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ภายหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและลดการระบาดของโควิด-19ในประเทศว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ 64 ไว้ที่ร้อยละ 2.6 ในกรณีพื้นฐาน แต่ปรับกรอบประมาณการจากเดิมที่ร้อยละ 0.0-4.5 มาที่ร้อยละ 0.8-3.0
และจากอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่ง ไปถึงช่วงเดือน ก.ย.64 ประเมินได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจาก 10 ตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชีย และ อาเซียนบางประเทศ อาจทำได้ราว 1,900,000 คน ซึ่งเมื่อรวมกับช่วง 9 เดือนแรกของปี จึงเห็นว่าตัวเลข 2,000,000 คนในปี 2564 ยังมีความเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ตสามารถดำเนินการได้ หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีนหากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 220,000 โดส ก่อนเดือนต.ค.64 ซึ่งเบื้องต้นทางการอยู่ระหว่างพิจารณาและคงเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมาตามแผน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ต้องจับตาคือกลุ่มประเทศต่างๆนสหภาพยุโรป ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนจาก แอสตร้าเซเนก้าไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่นฝรั่งเศส, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, ไอร์แลนด์, ไฮซ์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี เป็นต้น
แม้องค์การอนามัยโลกจะออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ อย่าระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังมีหลายประเทศในยุโรปประกาศหยุดฉีดวัคซีนออกซฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนดังกล่าวกับอาการลิ่มเลือดอุดตัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว องค์การอนามัยโลก ก็ยังคงคำเตือนว่า การมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วนั้น ไม่ใช่จะทำให้การแพร่ระบาดหมดไป หากประชาชนไม่ระมัดระวัง ซึ่งการแพร่ระบาดระลอก 3 หรือ 4 อาจเกิดขึ้นได้ โดยเยอรมนี เป็นประเทศล่าสุดที่เผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งสถาบันโรเบิร์ต คอช เพื่อโรคติดเชื้อ (อาร์เคไอ) แถลงยอมรับว่ามีสัญญาณชัดเจน ว่าการระบาดระลอก 3 ในเยอรมนีเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล เคยเตือนว่า เยอรมนีอาจเจอการระบาดระลอก 3 หากยกเลิกมาตรการเข้มงวดเร็วเกินไป นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยอมรับว่า กังวลต่อสถานการณ์นสหภาพยุโรปที่อาตส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะยุโรปนั้นถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ คงต้องติดตามแนวโน้มใกล้ชิดและรวมถึงในไทยด้วย แต่เราก็ยังคาดหวังว่าจากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มทยอย ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็น่าจะมีผลที่ดีข้น ทั้งหมดขอประเมินอีกครั้งเพราะยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น ทุกส่วนต้องไม่การ์ดตก
ดูเหมือนว่า ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ยังไม่อาจมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ แต่กระนั้นเราหวังว่าจากการระบาดทั้ง 2 ระลอก จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทย แข็งแกร่งจากภายใน