แสงไทย เค้าภูไทย ไทยยังติดกลุ่มชาติคอรัปชั่นมากอยู่ ล่าสุดติด 5 อันดับกินสินบนมากที่สุดในเอเชียเป็นอันดับ 3 แม้จะคนละส่วนกับ ดัชนีคอรัปชั่นของโลก แต่ก็ยังจัดว่าสถานการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงเลวร้ายกว่าเดิม ยิ่งมีการสำรวจทัศนคติของคนไทยต่อการฉ้อโกงของข้าราชการและนักการเมืองเมื่อต้นปีนี้ ที่พบว่า คนไทยยังเห็นว่า ยอมรับได้กับการคอรัปชั่นของข้าราชการและนักการเมืองที่พวกตนได้ประโยชน์ด้วย ก็ยิ่งส่อให้เห็นแนวโน้มด้านลบอยู่ ส่งผลให้ความรู้สึกที่มีต่อผลงานรัฐบาลไม่สู้ดีนัก ดังผลสำรวจหรือโพลของสวนดุสิตโพลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่และเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลโดยมีสัดส่วนให้น้ำหนักในด้านนี้สูงที่สุด คือ 87.92% รองลงมาคือปัญหาคอรัปชั่น 76.61% ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง 70.45% การใช้ ม.44 64.78% และการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีความเข้าใจในระบบใหม่ 61.18% ส่วนที่มีข่าวเรื่องนิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับชาติที่มีการกินสินบนสู ที่สุด 5 ชาติในเอเชีย โดยไทยเป็นชาติที่มีการกินสินบนมากเป็นอันดับ 3 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนตื่นตระหนกกันยกใหญ่ คิดว่าไทยเป็นชาติคอรัปชั่นลำดับต้นๆหนักกว่าพม่าไปแล้วนั้น เป็นคนละด้านกับเรื่องความโปร่งใสและดัชนีคอรัปชั่น เพราะการให้สินบนหรือกินสินบนนี้ เป็นแขนงหนึ่งของการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งเป็นองค์รวมของกิจกรรมโกงกินทั้งปวง การฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอรัปชั่นนั้น มีตั้งแต่การกินหัวคิว การทำราคาโครงการให้สูงเกินจริงเพื่อข้าราชการหรือผู้มีอำนาจจะได้เงินจากราคาส่วนต่างนั้น การบังคับซื้อวัสดุ สิ่งของหรือวัตถุดิบสำหรับงานของรัฐโดยไม่มีการประกวดราคา ฯลฯ การที่อันดับการเรียกรับสินบนของไทยสูงถึงเป็นอันดับ 3 ของที่สุดแห่งเอเชียเช่นนี้ แสดงถึงกิจกรรมด้านสินบนเป็นตัวกระตุ้นคะแนนคอรัปชั่นตัวสำคัญที่สุดของไทย ในกิจกรรมส่วนนี้ ชาติที่มีการเรียกรับ-ให้สินบน สูงที่สุดคืออินเดียมีสัดส่วนกินสินบนกันถึง 69% อันดับ 2 ได้แก่เวียดนาม 65% อันดับ 3 ไทย สัดส่วนการให้-รับสินบน 41% ด้วยเหตุผล “ ประเทศไทยกระเสือกกระสนอยู่กับการคอรัปชั่นทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐ ...” “แม้ว่ารัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศอยู่ จะร่างพระราชบัญญัติต่อต้านคอรัปชั่นในปี 2015 (พ.ศ. 2558) แต่ประชาชนไทยก็ยังมองในแง่ลบอยู่โดย 14% เห็นว่า การคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่าน แม้ว่าส่วนใหญ่คือ 72% มองว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับคอรัปชั่นได้ดี” ชาติที่กินสินบนน้อยกว่าไทยในเอเชียคือ เมียนมาร์กับปากีสถาน อยู่อันดับ 4 กับ 5 มีสัดส่วนกินสินบน 40% แต่ในทำเนียบความโปร่งใสหรือดัชนีคอรัปชั่นโลก อันดับของไทยอยู่เหนือเมียนมาร์กับปากีสถานมาก การสำรวจด้านความโปร่งใสที่ใช้ดัชนีคอรัปชั่นเป็นตัววัดนั้น ในรอบ 3 ปีที่รัฐบาลคสช.ปกครองประเทศ อันดับของไทยตกลงไป 21 อันดับ คือจากอันดับที่ 80 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 101 ในปี 2559 การจัดอันดับปีนี้ยังไม่ออกมา ยังคาดเดาไม่ได้ว่า จะขยับขึ้นหรือต่ำลงไปอีก การสำรวจความโปร่งใส ( transparency) นั้น เป็นการสำรวจ 13 ด้าน โดย 12 สถาบันที่ต่างหลากหลายในกิจกรรมเช่น ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา ( African Development Bank) สถาบันพัฒนาการบริหารระหว่างประเทศ ( International Institute for Management Development) โครงการตุลาการโลก ( World Justice Project) สถาบันประชุมสัมมนาโลก ( World Economic Forum) ฯลฯ ขอบข่ายการสำรวจ เน้นปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านคือ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม โดยสำรวจความเห็นของสาธารณชน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐและกิจกรรมด้านต่างๆมีแนวโน้มในการคอรัปชั่น องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International -TI) เป็นผู้จัดทำดัชนีคอรัปชั่น ( Corruption Perceptions Index- CPI) ขึ้นเป็นประจำปีทุกปีนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย อานันท์ ปันยารชุน เป็นตัวแทน ประจำประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ มีสมาชิกทั้งหมด 176 ประเทศ โดยประเทศเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมาชิกโดยสมัครใจ หากแต่ถูกกำหนดให้เป็นประเทศในข่ายสำรวจสภาวการณ์ด้านคอรัปชั่นเพื่อนำไปจัดอันดับความโปร่งใสที่ใช้รหัสคะแนนว่า CPI โดยใช้คะแนนเต็ม 100 เป็นเกณฑ์ความโปร่งใสสูงสุด ไล่ลงไปถึงต่ำสุด 0 คะแนน คะแนนเต็ม 100 ยังเคยมีใครได้ถึง โดยที่ได้สูงสุดคือเด็นมาร์กคะแนน 90-91-92 ตลอด ส่วนต่ำสุดมีอยู่ 2 ประเทศ คือโซมาเลียกับเกาหลีเหนือโดย 7 ปีที่ผ่านมาผลัดกันจอง 2 ตำแหน่งแชมป์โลกคอรัปชั่นมาตลอด คะแนนที่ได้คือ 8 กับ0 สลับกันไปมา สำหรับประเทศไทย 7 ปีที่ผ่านมา 2016 ย้อนหลังไป 2012 คะแนน อยู่ลำดับที่ 101 เท่ากับติมอซีเลสเต้ คะแนน CPI ของไทยในช่วง7 ปีที่ผ่านมา : 16 คะแนน 35 (-3) ปี 15 38(0) ปี 14 38 (+3) ปี 13 35(-2) ปี 12 37(-3) ประเทศในเอเชีย แปซิฟิกที่เท่ากับไทยได้แก่ ฟิลิปปินส์ ที่เหนือกว่าไทยคือศรีลังกา 95 อินโดนีเซีย 90 มองโกเลีย 87 จีน 79 อินเดีย 79 บาหเร็น 70 โอมาน 64 ซาอุดิอาเรเบีย 62 เกาหลีใต้ 52 บรูไน 41 ไต้หวัน 31 กาตาร์ 31 ภูฐาน 31 สหรัฐอาหรับเอเมอเรตส์ 24 ญี่ปุ่น 20 ฮ่องกง 15 ออสเตรเลีย 13 สิงคโปร์7 นิวซีแลนด์ 1 ส่วนที่ต่ำกว่าไทยได้แก่ เวียดนามอันดับที่ 113 ปากีสถาน 116 ลาว 123 เนปาล 131 เมียนมาร์ 136 ปาปัวนิวกินี 136 บังกลาเทศ 145 กัมพูชา 156 โดยมีเกาหลีเหนือ 176 รั้งอันดับสุดท้าย สำหรับปี 2015ไทยอยู่อันดับ 80 แค่ 3 ปีในรัฐบาลปัจจุบันอันดับเราตกลงไปจาก 80 ถึง 101 ด้วยเหตุอันใด ?