ทวี สุรฤทธิกุล
“พรรคทหาร” คือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พรรคการเมืองในความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในตำรารัฐศาสตร์ก็คือ “กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หรือความปรารถนาที่ต้องตรงกัน มาร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อเข้าใช้อำนาจทางการเมืองและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน” ด้วยความหมายนี้ใครก็ตามที่ “มีอุดมการณ์” และ “ทำงานเพื่อชาติและประชาชน” ก็เรียกได้ว่าเป็นนักการเมือง ซึ่งเมื่อคนพวกนี้มารวมกันก็จะเกิดเป็น “พรรคการเมือง” ดังนั้นทหารซึ่งมีอุดมการณ์ของการรักษาชาติและราชบัลลังก์ รวมทั้งได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยได้เข้ามามีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดมา ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พรรคการเมือง” ที่สำคัญได้พรรคหนึ่ง
ในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ชื่อว่า “คณะราษฎร” (ท่านผู้รู้บอกว่าให้อ่านว่า “คะ นะ ราด” แม้จะไม่มีตัวการันต์กำกับ เพราะเป็นความประสงค์ของผู้นำณระนี้มาตั้งแต่สมัยนั้น) ทหารก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะว่าไปแล้ว “มีอิทธิพลสูงสุด” ในกลุ่มบุคคลคณะนี้มาโดยตลอด จึงถือได้ว่าทหารคือผู้นำในระบบพรรคการเมืองมาตั้งแต่ต้น เพราะคณะราษฎรนี้เองคือพรรคการเมืองพรรคเดียวของไทยในยุคนั้น เช่นเดียวกันกับทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร กลุ่มทหารที่ทำการยึดอำนาจนั้นก็คือพรรคการเมืองที่ขึ้นปกครองประเทศ แม้ว่าในหลายๆ ครั้งก็จะเอาภาคส่วนอื่นๆ เช่น ได้แก่ ข้าราชการอื่นๆ และเอกชน มาเข้าร่วมบริหารประเทศ แต่ทหารนั้นก็ยัง “คุม” อำนาจไว้ได้อย่างเด็ดขาดเสมอมา
ขณะนี้มีเสียงเล่าลือว่า “ทหารจะตั้งพรรคการเมือง” ซึ่งอาจจะทำได้ 2 รูปแบบ แบบแรกก็คือ ให้ “มือดี” ไปรวบรวมบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่หรือที่กำลังจะตั้งขึ้น ให้เข้ามาเป็น “กลุ่มก้อน” เดียวกันในทำนองสหพันธ์ หรือเป็นระบบพรรคแบบ “รวมหัว-แยกสาย” คล้ายๆ กับ “อัมโน” ของมาเลเซีย หรือพรรคสามัคคีธรรมในสมัย ร.ส.ช. พ.ศ. 2535 อีกแบบหนึ่ง ทหารก็จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเอง ที่ในตอนต้นอาจจะให้ “นอมินี” ไปจัดตั้งไว้ อย่างเช่นที่เคยจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือพรรคสหประชาไทยในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
แม้ว่าทั้งพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ผู้ทรงอิทธิพลใน คสช.จะออกมาปฏิเสธว่าไม่คิดตั้งพรรคการเมืองและไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ ทหารจะยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ทั้งในรัฐสภาและในรัฐบาล โดยเฉพาะในรัฐสภานั้นทหารก็ต้องคุมเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ โดยที่ในวุฒิสภาก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นสภาที่ คสช.มีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการโปรดเกล้าฯแล้วนี้ ส่วนในสภาผู้แทนราษฎร ทหารก็ต้องพยายามเข้าไป “จัดการ” ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะควบคุมให้ได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรนี้เองจะมีส่วนสำคัญในการตั้งนายกรัฐมนตรี รวมถึงคอยกำกับดูและรัฐบาล
วิธีการที่จะควบคุมสภาผู้แทนราษฎรให้ได้นั้น ตามรัฐธรรมนูญก็กระทำได้เพียงทางเดียวคือ ทหารต้องเล่นการเมือง หรือต้องมีพรรคการเมือง ซึ่งก็ต้องเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมพรรคการเมืองให้เป็นพรรคใหญ่ ภายใต้ระบบคะแนนเสียงทุกเสียงของประชาชนมีคุณค่า ที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเพียงเสียงเดียว แต่สามารถทำให้ได้ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งแต่ละพรรคก็จะต้องส่งผู้สมัครให้ได้มากที่สุด และต้องแย่งคะแนนจากประชาชนอย่างดุเดือด
แต่เมื่อนายทหารใหญ่ที่คุมประเทศอยู่ในขณะนี้ท่านบอกว่าจะไม่ตั้งพรรคการเมือง ในขณะที่ท่านก็ได้วาง “โรดแมป” ของการอยู่ในอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่ง(?)ไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเด่นชัด จึงมีเพียงหนทางเดียวที่ทหารจะเข้าไปมีอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรได้ นั่นก็คือ “ความยินยอมพร้อมใจ” ของพรรคการเมืองเหมือนในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยพรรคการเมืองต่างๆ ในยุคนั้นร่วมกันสนับสนุนให้พลเอกเปรมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับช่วยประคับประคองและสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลนั้นด้วย อันเป็นที่มาของคำว่า “เปรมโมเดล” แต่กระนั้นล่าสุดทหารท่านก็ออกมาปฏิเสธว่าจะไม่มีการกระทำแบบนี้อีกเช่นกัน
ผู้เขียนพยายามจะรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในอนาคตของการเมืองไทยภายใต้กระบวนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็มีความเข้าใจอย่างยากลำบากว่า “แล้วทหารจะทำอะไรได้กับการเมืองไทยในยุคนี้” ถ้าทหารไม่ลงเล่นการเมืองและควบคุมการเมืองด้วยตนเอง เพราะทหารเองก็ไม่เอาพรรคการเมือง(ไม่ทำพรรคการเมืองและไม่คิดให้พรรคการเมืองมาสนับสนุน) แล้วทหารจะเอาหรือได้อำนาจมาจากไหน
ที่สุดผู้เขียนก็มาตกผลึกว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ทหารหวังพึ่งประชาชน ทหารอาจจะมองว่าในการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังนี้ คือ 19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารก็ได้ประชาชนนี่แหละที่ออกมาเป็นแรงเชียร์ และภายหลังที่ทหารยึดอำนาจได้แล้วก็มีประชาชนอีกนั่นแหละที่ให้การสนับสนุน ด้วยตรรกะอย่างนี้ผู้เขียนเลยเชื่อว่า ในกระบวนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ประชาชนน่าจะเลือกพรรคการเมืองที่เชียร์ทหาร หรืออีกนัยหนึ่งเลือกพรรคการเมืองที่จะมาเลือกทหารเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกันที่ทหารอาจจะคิดไปถึงขนาดว่า เสถียรภาพของรัฐบาลแม้จะไม่ได้ควบคุมโดยทหารก็อยู่ได้ประชาชนเช่นเดียวกัน เมื่อทหารมีประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง!