ในฐานะพันธมิตรร่วมรบ กับ "พรรคพลังประชารัฐ" แล้วไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะกลายเป็น "ทางวิบาก"เช่นใด แต่เชื่อเถอะว่า การตัดสินใจกดดันตัวเองจนถึงขั้น "ขีดสุด" ด้วยการประกาศ "ถอนตัว"จากการร่วมรัฐบาลสำหรับ "พรรคประชาธิปัตย์"จะไม่เกิดขึ้น ! ศึกหน้าด่านที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยกลางออกมาเพื่อให้ความชัดเจนเมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่กระนั้นยังปรากฎว่าที่ประชุมรัฐสภา กลับไม่ได้ข้อยุติว่าที่สุดแล้วจะดำเนินการเช่นใด ทั้งนี้ในการประชุมรัฐสภา "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอต่อสมาชิกว่า เพื่อเป็นทางออกและทำให้รัฐสภาสามารถแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้ ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 31 ขอให้ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่รัฐสภาอีกครั้ง ใน4ประเด็น หนึ่ง ร่างที่พิจารณากันอยู่ เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ สอง จากคำวินิจฉัยศาลให้ทำประชามติเสียก่อนนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจัดทำตอนไหน ระหว่างก่อนโหวตวาระที่หนึ่ง หรือหลังโหวตวาระที่สาม สาม การทำประชามติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 2 มาตรา คือ มาตรา 166 ให้ครม.จัดทำประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และมาตรา 256 (8) ในการแก้ไขเพิ่มเติมหลังผ่านวาระที่สามแล้วให้ทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในการจัดทำประชามตินอกเหนือจากนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตราใด เพราะฉะนั้นต้องอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีใดจะทำประชามติเมื่อไหร่ สี่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสองหลักการตามข้างต้น ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจะตกทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งจะนำสู่การตัดสินใจว่าจะลงมติในวาระที่สามได้หรือไม่ แน่นอนว่าการเสนอทางออกของจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตตามมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเล่นเกม "เตะถ่วง" หรือไม่ เพราะจะหมายความว่า รัฐสภา ทำเรื่องสอบถามกลับไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ นั้นจะยิ่งดึงเวลาให้ยืดเยื้อออกไป ทั้งนั้นทั้งนี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ในการร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่ต้องการ "รอเวลา" ให้ฝ่ายค้านมารุมกดดัน บีบให้ประชาธิปัตย์ ตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เมื่อที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่อาจลุล่วง ถูกคว่ำลงกลางทาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องหาทางออกร่วมกัน และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนออกมาแล้ว จะถือเป็นการลดแรงเสียดทานในทางการเมืองไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่า "ภารกิจ" ที่มีความสำคัญ ในฐานะ "พรรคร่วมรัฐบาล" คือการเร่งสร้างผลงานในกระทรวงที่พรรคกำกับดูแล นโยบายให้ผลิดอกออกผล มากที่สุด จึงหมายความว่าการดำเนินบทบาททั้งในฐานะ "พรรคการเมือง" บนจุดยืนของการแก้รัฐธรรมนูญ กับการทำหน้าที่ในฐานะ พรรครัฐบาลของประชาธิปัตย์ จึงจะต้องเดินไปอย่างสมดุลย์ กันให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เสียงกดดันหรือจี้ให้ประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากรัฐบาล จึงจะกลายเป็นเสียงที่ "ได้ยิน" แต่อาจไม่จำเป็น ต้อง "รับฟัง" !