ทีมข่าวคิดลึก
ข่าวคราวการปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นในคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 3"ไปสู่ "ประยุทธ์ 4" เมื่อการบริหารประเทศของรัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีล่วงเข้าสู่ห้วงปีที่ 3 แม้ล่าสุด ทั้ง"บิ๊กตู่" และ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่างออกมาประสานเสียงปฏิเสธกระแสข่าวก็ตาม แต่หลายต่อหลายฝ่าย ยังไม่มีใครเชื่อว่า การปรับ ครม."ประยุทธ์ 4" จะไม่เกิดขึ้น !แรกเริ่มเดิมที มีการคาดหมายกันว่าเมื่อเสร็จสิ้น "ประชามติ" ไปแล้วการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในบางกระทรวง บางส่วนที่เป็น "จุดอ่อน"ต้องได้เห็นเพราะไม่เช่นนั้นแล้วแม้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จะมีคะแนนนิยม ถือแต้มต่อในมือ แต่หากที่สุดแล้ว ไม่สามารถผลิต "ผลงาน" ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ มากไปกว่าการกุมความโดดเด่นในเรื่องของการจัดระเบียบสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่แล้วการปรับ ครม. ยังคงเป็นเพียง "กระแส" ที่ต้องรอลุ้นว่าจะเข้าใกล้ความเป็นจริงหรือไม่ เมื่อหลังวันที่ข้าราชการเกษียณอายุ ในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้ ต้องรับว่าหลังการประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.เป็นต้นมา เมื่อปรากฏชัดเจนว่า คสช.เป็นฝ่ายกุมชัยชนะเพราะทั้ง "ร่างรัฐธรรมนูญ" และ"คำถามพ่วง" สามารถผ่านประชามติได้อย่างฉลุย พบว่าบรรยากาศทางการเมืองได้ดำเนินไปในลักษณะที่เรียกว่าคสช.เป็นฝ่ายกำหนดเกมการเล่นทั้งหมด
แม้จะมีความเคลื่อนไหวจากนักศึกษา กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาบางแห่ง หรือแม้แต่ "ฝ่ายต่อต้าน คสช." ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงคนเสื้อแดง จะเต็มไปด้วยความพยายามขยับเพื่อรักษา"ที่ยืน" ของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับดูเหมือนว่าภายใต้เสียงอึกทึกจากการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ตาม ย่อมไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแท้จริง!
เวลานี้พรรคเพื่อไทย กำลังเผชิญหน้ากับอาการหวั่นวิตกไม่น้อย ว่าที่สุดแล้วพวกเขาไม่อาจหนีรอดจากปฏิบัติการเซตซีโร่ ตามที่เคยมีการโยนหินลงมาถามแต่อย่างใด หลายคนในพรรคเพื่อไทย ได้ประเมินสถานการณ์และทิศทางลมการเมืองรอบด้าน ก็พบว่าวันนี้พรรคเพื่อไทย น่าจะทำได้แค่เพียงหนทางเดียว
นั่นคือการ "ถล่ม" ในจุดที่รัฐบาลฝากความหวังเอาไว้มากที่สุด นั่นคือแนวรบด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องหาทางรักษาปราการด่านนี้เอาไว้ให้ได้ ซึ่งเป็นที่มาว่าเหตุใด จึงไม่มีการปรับ ครม.ในส่วนของ "ทีมเศรษฐกิจ"ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ "สมคิดจาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯ เพื่อคงความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับลดแรงปะทะที่จะเกิดจาก "ศึกใน"โดยใช่เหตุ
แกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทย รู้ดีว่าวันนี้ไม่ใช่วันของพวกเขาอีกทั้งโอกาสที่จะต้องเจอกับการย่อยสลายพรรคเพื่อไทย จากพรรคอันดับหนึ่งให้เหลือเพียงพรรคขนาดกลางนั้นอาจต้องใช้หลากหลายกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นทั้งขู่ และปลอบ ไปจนถึงข้อเสนอที่สมาชิกในแม่น้ำบางสายจงใจโยนโจทย์ลงมา ด้วยการเสนอไม่ให้นักการเมืองปราศรัยหาเสียง นั่นหมายความว่า คสช.จะใช้เป็นกลยุทธ์เลือกเฟ้นเอาเฉพาะ "นักการเมืองหน้าเก่า" ที่สามารถฝ่าสนามเลือกตั้งเข้ามาได้โดยไม่ต้องเดินสายหาเสียง ใช่หรือไม่
ขณะเดียวกัน กระแสข่าวคราวว่าด้วยการดึงบางกลุ่มบางก๊วนในพรรคเพื่อไทย ให้ตัดสินใจว่าจะเลือกกอดคอกันตายไปกับพรรค หรือจะ"สละเรือ" เพื่อพบกับ "ทางรอด" ครั้งใหม่ ยังเป็น "ข้อสมมติฐาน" ที่เขย่าขวัญฝ่ายตรงข้าม คสช. อยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน !