เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักปรัชญาผู้โด่งดังชาวอังกฤษในศตวรรษที่แล้วบอกว่า บิดาของปรัชญาตะวันตก คือ เพลโต ผู้ได้บอก “ทุกอย่าง” ไว้หมดแล้ว นักปรัชญาตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเพียง ผู้เขียน “เชิงอรรถ” ให้ความคิดของเพลโตเท่านั้น
เพลโตเป็นศิษย์เอกของโสคราติส (469-399 ก่อน ค.ศ. ) ได้บันทึกความคิดและเรื่องราวต่างๆ ของ “อาจารย์” ผู้ซึ่งไม่ได้เขียนอะไรไว้เลย ที่รู้จักกันดี คือ Apology ซึ่งนำเอาการพิพากษาคดีของโสคราติสที่ถูกกล่าวหาว่ายุยงเยาวชนให้เสียคนและตัวเขาไม่ศรัทธาต่อเทพเจ้า และที่สุดถูกตัดสินประหารชีวิต
มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันกล่าวไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า ถ้าอยากเข้าใจโลกวันนี้ ให้กลับไปศึกษาปรัชญากรีกเมื่อ 2,500 ปีก่อน ยุคกำเนิดปรัชญาตะวันตก ที่เป็นรากฐานทางความคิดและพัฒนาการของโลก ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจนถึงทุกวันนี้
ที่เขาพูดเช่นนี้เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบใหม่ ไม่ใช่เชื่อว่าทุกอย่างมีคำตอบหมดแล้วในตำนาน ในศรัทธาต่อเทพเจ้าผู้ทรงสร้างและบันดาลให้สรรพสิ่งเป็นไปตามวิถีแห่งชะตากรรม นักปรัชญาชาวกรีกจึงพยายามหาคำตอบว่า โลกมาจากไหนและเป็นอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร อะไรเป็นรากฐานที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันเป็นหนึ่ง ทุกอย่างเป็นมา เป็นอยู่และเป็นไปได้อย่างไร
เป็นคำถามที่ทำให้เกิดคำตอบที่แตกต่างกันใหญ่ๆ สองทาง เพลโต บิดาของจิตนิยมมองว่า “จิต” หรือ “ความคิด” เป็นรากฐานสำคัญที่สุด ขณะที่เดโมครีตุสบอกว่า “อะตอม” หรือ “วัตถุ” ต่างหาก ซึ่งก็คือฐานคิดของวัตถุนิยม ขณะที่จิตนิยมพัฒนาการไปสูงสุดที่เฮเกล วัตถุนิยมก็ไปสุดขีดที่คาร์ล มาร์กซ์
แต่สิ่งที่เป็น “หลักคิด” ของตะวันตกที่เป็นมรดกของโสคราติส คือ “วิธีคิดแบบโสคราติส” หรือที่เรียกกันว่า “วิภาษวิธี” (dialectic) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เพื่อโต้แย้งและนำไปสู่ความคิดใหม่ ไม่ว่าจิตนิยมหรือวัตถุนิยมก็ใช้วิธีคิดนี้ โดยมีตัวตั้ง (thesis) ตัวแย้ง (antithesis) และตัวตาม หรือการสังเคราะห์สรุป (synthesis) ซึ่งก็จะกลายเป็นตัวตั้ง ที่จะมีตัวแย้งและตัวสรุปเช่นนี้เรื่อยไป
โสคราติสชอบสนทนากับผู้คนโดยเฉพาะเยาวชน เขาตั้งคำถามให้คนรุ่นใหม่หาคำตอบใหม่ ซึ่งหลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเรื่องในสังคมประชาธิปไตยในนครรัฐเอเธนส์ยุคนั้น แต่จะนำมาเปรียบกับระบอบประชาธิปไตยในโลกวันนี้ทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะสภาของเอเธนส์เป็นสภาประชาชน ไม่มีผู้แทน มีแต่พลเมืองผู้ชายผู้ใหญ่ทุกคนเป็นสมาชิกสภา ผู้หญิงและทาสเข้าสภาไม่ได้
ความหมายของประชาธิปไตยของกรีกในยุคนั้น คือ การปกครองโดยประชาชน เพราะอำนาจเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมาย และมีจิตอาสาเข้าไปทำงานเป็น “ข้าราชการ”
คำสอนของโสคราติสเป็นเรื่องคุณธรรมและความรู้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นสองหน้าของเหรียญเดียว “คุณธรรมคือความรู้ ความรู้คือคุณธรรม” คุณธรรมทำให้มีความสุข การรู้ความจริงทำให้คนเป็นอิสระ ไม่ใช่การรู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อมีชีวิตที่ดี รู้ด้วยใจที่กลายเป็นจิตสำนึก
โสคราติสสอนว่า “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบเป็นชีวิตที่ไม่มีค่า” ใน Apology ซึ่งแปลว่าการป้องกัน อันว่าด้วยการกล่าวโทษและการโต้ตอบของโสคราติสในการดำเนินคดีใน “ศาล” เขาแสดงให้เห็นถึงการเคารพกฎหมายและยอมรับในกระบวนการยุติธรรม แม้ผลออกมาจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ เขาไม่ได้ทำให้เยาวชนเสียคน แต่ทำให้เป็นผู้เป็นคนมากขึ้นต่างหาก และเขาไม่ได้ปฏิเสธเทพเจ้า เพียงแต่ต้องการแสดงศรัทธาในแบบที่มีเหตุมีผลมากกว่าที่ทำกัน แต่เมื่อ “ศาล” คิดต่าง เขาก็ยอมรับ
ในการพิพากษ์คดี โสคราติสมีสิทธิอุทธรณ์และเสนอโทษเป็นการถูกปรับหรือถูกเนรเทศ แต่เขาไม่ทำ และยอมรับความตาย ทั้งๆ ที่ก่อนนั้น มีเพื่อนชื่อ Crito (ชื่อหนังสือที่พูดเรื่องนี้) ที่เสนอช่วยเหลือให้เขาหลบหนี แต่โสคราติสก็อธิบายว่าทำไมเขาไม่ทำ และโชคดีที่เขาไม่ไป เพราะถ้าเขาไป ชื่อของโสคราติสคงไม่ยิ่งใหญ่และเป็นอมตะอย่างทุกวันนี้ เพราะมันขัดแย้งกับสิ่งที่เขาได้สอนและพยายามต่อสู้ตลอดมา
ดูเรื่องกรีกเป็นละครแล้วก็ย้อนมาดูการเมืองไทย ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงวันนี้ มีคนไทยหลายคนทั้งอดีตผู้นำระดับสูงลงมาถึงลิ่วล้อบริวาร ที่ได้ “หนีไป” หรือเนรเทศตัวเอง (ภาษาอังกฤษบอกว่า self-exile)
เหตุผลที่ให้ไว้มักเป็นเรื่อง “การเมือง” และดูเหมื่อนจะหนีได้ไม่ยาก เส้นทางออกนอกประเทศทาง “ธรรมชาติ” มีหลายพันกิโลเมตร หรือถ้า “บารมี” มากก็ไปทาง “ธรรมดา” ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ได้หนีไปไหน เข้าไปใช้โทษอยู่ในเรือนจำ
กรีกกับไทย : เป็นไปได้ที่โสคราติสเชื่อ (อย่างที่เพลโตเขียนไว้ใน Phaedo) ว่า “คนดีมีความเป็นธรรมจะเกิดใหม่ได้ชีวิตที่ดีกว่า” อาจารย์และศิษย์ผู้ยิ่งใหญ่เชื่อในการกลับชาติมาเกิด (reincarnation) และน่าจะเชื่อในเรือง “กรรม” คล้ายคนไทยที่เชื่อว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า