สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองเริ่มดีขึ้น โดยตัวเลขลดลงต่ำกว่า 50 และการแพร่ระบาดเพียง 10 จังหวัด ขณะที่วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยวันนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2564 ระบุว่า ฉีดวัคซีนไปแล้ว 29,900 คน มีการทยอยขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือ Covaxin จากบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เช่นเดียวกับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด
จากก่อนหน้านี้ที่วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ที่นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนแอสตราเซเนกาของบริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ยื่นขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตแล้ว
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้สนให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน โดยยื่นขอจัดตั้งเป็นบริษัทยากับ อย. เพื่อขอนำเข้ายาและชีววัตถุ พร้อมติดต่อบริษัทผลิตวัคซีนต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อนำเอกสารมายื่นให้ อย.รับรอง แล้วส่งมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบ รับรองรุ่นการผลิต โดยขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตจาก อย.จะแล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน
แต่แม้สถานการณ์จะมีสัญญาณดี ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดและโอกาสให้การเข้าถึงวัคซีนมากยิ่งขึ้น แต่ความคาดหวังดังที่บทบรรณาธิการสยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2564 พาดหัวเอาไว้ว่า "หวังว่าปีนี้จะมีสงกรานต์" นั้น การได้เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย อย่างปรอดโปรงนั้น ดูเหมือนอาจจะยังไม่ใช่เวลานี้ แม้ในปีนี้จะได้หยุดยาวกัน 6 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 10 เมษายน-วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2564
โดยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในวันที่ 19 มีนาคม จะพิจารณาอนคลายให้จัดกิจกรรมควบคู่ไปกับการควบคุมความปลอดภัยโดยจะประเมินตามสถานการณ์ 3 ส่วนคือ ภาครัฐ ประชาชนและผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมหรือผู้ประกอบการ ถ้าทั้ง 3 ส่วนมีความพร้อม ศบค.ก็พร้อมผ่อนคลายมาตรการอย่างเต็มที่ ซึ่งเบื้องต้นทั้ง 3 ภาคส่วนมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างเล็กน้อย
ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดในการอนุญาตกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางไปท่องเที่ยว สรงน้ำและรดน้ำดำหัวได้ แต่กิจกรรมที่ต้องถอดหน้ากากอนามัยหรือมีความเสี่ยง เช่น การสาดน้ำ ปะแป้ง อาจจะยังไม่อนุญาต ซึ่งจะต้องหารือด้วยความรอบคอบ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด หากมีการจัดกิจกรรมอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกระลอก
อย่างไรก็ตาม มีเสียงเตือนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังย้ำว่า หากพ้นกลางเดือนมีนาคมไปแล้ว จำนวนการติดเชื้อต่อวันจะเป็นตัวกำหนดระยะคงที่ ก่อนมีโอกาสปะทุซ้ำ กล่าวคือ หากกดการระบาดให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ ระยะคงที่นั้นก็จะยาว แต่หากจำนวนติดเชื้อต่อวันมีสูง ระยะคงท่ก็จะสั้นลงตามลำดับ เฉลี่ยแล้ว หากเป็นหลักสิบต่อวัน คาดว่าจะมีระยะเวลาราว 10 สัปดาห์บวกลบสองสัปดาห์ แต่หากเพิ่มขึ้นแต่ละหลัก ระยะคงที่จะสั้นลงราว 21 วัน ต่อหลักที่เพิ่มขึ้น แปลว่า ด้วยข้อมูลที่มี ช่วงที่ต้องระวังจะเกิดซ้ำคือ มิถุนายน
ดังนั้น หากพิจารณาจากเสียงเตือน และกิจกรรมที่จะมีการผ่อนคลายในช่วงสงกรานต์แล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจสักเท่าไหร่นัก ด้วยวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน การสังสรรค์ เฉลิมฉลอง อาจยังไม่ได้เต็มรูปแบบ แต่ก็สามารถทำกิจกรรมแบบนิวนอร์มอลโดยที่ยังคงรักษาประเพณี ความงดงามของวัฒนธรรมไว้ได้ โดยไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ ภาพจำต่างๆจะได้หวนคืน