ทีมข่าวคิดลึก
ขณะที่ "พรรคใหญ่" ทั้ง "ประชาธิปัตย์" และ "เพื่อไทย" ต่างหาทางดิ้นรนเพื่อดำรงตนให้เป็นพรรคขนาดใหญ่ ที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด รักษาคะแนนนิยม ดูแลฐานเสียงให้เข้มแข็ง ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ภายใต้กฎกติกาใหม่ เพราะรู้ดีว่าวันนี้ สองพรรคใหญ่ต่างเจอ "โจทย์ยาก" เช่นเดียวกัน แม้จะยืนอยู่คนละขั้วอุดมการณ์เดียวกันก็ตาม!
ภายใต้กฎกติกาใหม่ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไปจนถึง "กฎหมายลูก"หลายฉบับที่ผ่านการร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จนส่อเค้าส่งสัญญาณค่อนข้างชัด เจนแล้วว่า กฎกติกามารยาทสำหรับ "ผู้เล่น" คือนักการเมืองจะต้องเจอกับ "กับดัก" เช่นใดบ้าง
โดยเฉพาะเวลานื้แม้พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ต่างเป็น "คู่ปฏิปักษ์"ในทางการเมือง ยืนอยู่คนละขั้วอุดมการณ์ หากแต่ทั้งสองพรรค ล้วนแล้วอยู่ในสภาพที่ต้อง "กุมขมับ" ด้วยกันทั้งคู่
สถานการณ์วันนี้ถูกคาดการณ์กันไปไกล ถึงขนาดที่ว่า ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง แต่อาจมีราคาเป็นได้แค่เพียง"พรรคร่วมรัฐบาล" เท่านั้น เมื่อ "เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30" ถูกตีตราจองโดย "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่า คสช. เองจะสามารถวางใจได้ว่าทุกแนวรบจะควบคุมเอาไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะต้องไม่ลืมว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเองยังคงเหนือกว่าทุกพรรคการเมือง แม้ในวันที่ไร้หัว นับแต่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ หลบหนีออกนอกประเทศ โดยไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม
ดังนั้นจึงว่ากันว่า คสช. เองต้องมี"แผนรองรับ" กับทุกสถานการณ์เพื่อนำมาซึ่งชัยชนะในบรรทัดสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นแผน 1 หรือแผน 2 หรือแม้แต่แผนในทางลับ !
เมื่อสำรวจทิศทางทางการเมืองยามนี้ต้องยอมรับว่า "กลุ่ม กปปส." ของ"สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตแกนนำ กปปส.นั้น มีความคึกคักและแสดงตนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันหน้าค่อนข้างชัดเจนมากที่สุด ทั้งการที่สุเทพ ประกาศตัวสนับสนุน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นนายกฯ อีกสมัย หลังการเลือกตั้งรอบหน้า ภายใต้ความเชื่อมั่นที่ว่า นาทีนี้ยังไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์
ลำดับต่อมาคือการส่งสัญญาณในลักษณะ ไม่ตอบรับ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธ เรื่องของการตั้งพรรคการเมืองแม้สุเทพจะประกาศว่าตัวเขาเองจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่า "สถานะ" ของสุเทพ ในยามนี้นั้น เสมือน "แม่เหล็ก" ที่ใครๆ ก็อยากวิ่งเข้าหา โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่มีแนวทางเดียวกันคือการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
แม้จะมีพรรคการเมืองหน้าเก่า ที่กำลังเป็นหุ้นการเมืองที่น่าจับตา ไม่แพ้กันอย่าง "พรรคภูมิใจไทย" ก็ตาม แต่กปปส. ดูจะมีความพร้อมและมีความเข้มข้น คึกคักเหนือกว่าอยู่หลายเท่า ทั้งประเด็นในการสร้างแรงกดดัน แรงกระเพื่อมไปยังประชาธิปัตย์ หาก กปปส. คิดจะทำพรรคการเมืองขึ้นมา นั่นหมายความว่าคะแนนนิยมในภาคใต้ของประชาธิปัตย์จะต้องถูกแชร์ออกไปให้กับ กปปส. ด้วยหรือไม่
แวดวงการเมืองในยามนี้ หลายคนกำลังจับจ้องไปทุกความเคลื่อนไหวของสุเทพ เพราะแม้เจ้าตัวจะทุ่มเทกับงานของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า สุเทพ จะวางมือจากการเมืองแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม การไม่มีตำแหน่งแห่งหนใดๆ ในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือการประกาศชัดเจนว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และที่สำคัญจะไม่กลับไปที่ประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้สุเทพเดินเกมการเล่นได้สะดวกโยธิน
มากกว่าหลายเท่า ทั้งการขับเคลื่อนพรรคการเมือง ใหม่ของ กปปส.ไปจนถึงการระดมทุน ที่มี "นายหัว" ในภาคใต้หลายคนกำลังชั่งใจว่าจะเลือกรัก เลือกชอบ และเลือกเชียร์ใครระหว่าง กปปส.กับประชาธิปัตย์ !?
"แวดวงการเมืองในยามนี้หลายคนกำลังจับจ้องไปทุกความเคลื่อนไหวของสุเทพ"