ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากตีความตามตัวอักษร เข้าใจได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีการทำประชามติ 2 ขยัก คือก่อนและหลัง ก่อนจะแก้ไขต้องไปทำประชามติก่อน โดยถามความเห็นของประชาชนว่าจะแก้หรือไม่แก้ และเมื่อแก้ไขแล้ว ก็ส่งกลับไปถามประชาชนอีกว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีข้อถกเถียงกันว่า กระบวนการในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้หรือไม่ ฝั่งหนึ่งเห็นว่าทำได้ อีกฝั่งก็เห็นว่าไม่สามารถทำได้ เช่น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า เพื่อให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการเริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น รัฐสภาก็ควรประชุมลงมติวาระที่สามต่อไป ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในการลงมติวาระสามนั้น เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐสภาได้ทำเกินไปกว่าที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ และเมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นถือว่าโมฆะใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ใช่ อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่ ก็ใช่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะฝ่าด่านไปได้ง่ายๆ เนื่องจากต้องอาศัยเสียงสนับสนุนกึ่งของสองสภา คือ 366 เสียงจาก 730 เสียง และในจำนวนนั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว.ถึง 1 ใน 3 คือ 84 เสียง แต่ถึงแม้จะผ่านวาร3 ไปได้ ก็ไม่สะดวกโยธิน เพราะขั้นตอนการทำประชามติจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 และมีผลบังคับใช้ จะต้องตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งส.ส.ร.ภายใน 30 วัน นับจากรัฐธรรมนูญใช้บังคับ โดยที่ยังไม่มีการสอบถามประชามติจากประชาชน ก็จะผิดเงื่อนไขของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ซึ่งถึงตรงนั้นก็จะต้องยื่นตีความกันอีก ซึ่งก็อาจทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล้มไป แต่ถึงแม้จะแก้ไขเทคนิคทางกกฎหมาย ให้สามารถทำประชามติได้ ก็ไม่แน่ว่า เสียงส่วนใหญ่จะให้ผ่าน อีกทั้งในการทำประชามติแต่ละครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึ่งตัวเลขงบประมาณไว้ว่าจะต้องใช้ราว 3-4 พันล้านบาท โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อต้องทำประชามติถึง 2 ครั้ง และเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีก ก็จะต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยๆ 1.2 หมื่นล้านบาท ย่อมมีปฏิกิริยาจากฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจหาทางออกด้วยการแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องติดตามดูกันต่อไป นี่คือหนทางวิบากของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ