เสือตัวที่ 6
แผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ในระยะแรก เดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดสนั้น จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า/เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล
สำหรับวัคซีนงวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือนมีนาคม และงวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนี้ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และจะจัดส่งกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการจัดส่งและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนทั้งหมด มากกว่า 30,000 ราย ในขณะนี้จำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก เกินกว่า 300 ล้านโดสแล้ว ใช้เวลา 3 เดือนพอดีนับจากวันแรกที่มีการฉีดวัคซีนในประชากรในวงกว้าง โดยมี 114 ประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อ 8 มี.ค. พบว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้ฉีดวัคซีนแล้ว 4,881,330 โดส ใน 8 ประเทศ โดยเรียงลำดับตามจำนวนการได้รับวัคซีนตามลำดับ ได้แก่ ลำดับที่1 สิงคโปร์ จำนวน 525,039 โดส (9.2% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ลำดับที่ 2 อินโดนีเซีย จำนวน 4,022,544 โดส (1.51% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ลำดับที่ 3 กัมพูชา จำนวน 71,185 โดส (0.43% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ลำดับ 4 มาเลเซีย จำนวน 127,608 โดส (0.39% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ลำดับ 5 พม่า จำนวน 104,664 โดส (0.2% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ลำดับ 6 ไทย จำนวน 27,497 โดส (0.05% ของประชากร) เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564
จากข้อมูลตัวเลขประชากรในแต่ละประเทศที่ได้รับวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองพบว่า ยังมีจำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามของไวรัสโควิดตัวนี้ในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และหากรวมถึงปัญหาจากผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนของคนในโลกด้วยอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ย่อมทำให้อัตราการได้รับวัคซีนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันจากไวรัสตัวนี้น้อยลงไปด้วย จากข้อมูลตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพบส่า ความเร็วในการฉีดวัคซีน สูงที่สุด 10 อันดับแรก (เฉลี่ยล่าสุด) ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา (วันละ 2.16 ล้านโดส) อันดับ 2 สหภาพยุโรป (วันละ 1.10 ล้านโดส) อันดับ 3 อินเดีย (วันละ 0.95 ล้านโดส) อันดับ 4 จีน (วันละ 0.60 ล้านโดส) อันดับ 5 รัสเซีย (วันละ 0.51 ล้านโดส) อันดับ 6 บราซิล (วันละ 0.39 ล้านโดส) อันดับ 7 สหราชอาณาจักร (วันละ 0.35 ล้านโดส) อันดับ 8 เยอรมนี (วันละ 0.22 ล้านโดส) อันดับ 9 อินโดนีเซีย (วันละ 0.20 ล้านโดส) และอันดับ 10 ตุรกี (วันละ 0.19 ล้านโดส)
ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่า อัตราความเร็วในการได้รับวัคซีนเพื่อเป็นภูมิต้านทานไวรัสร้ายตัวนี้ต่ำมาก ทั้งยังไม่รวมอาการอันไม่พึงประสงค์ที่พร้อมจะเกิดขึ้นกับทุกคนได้ โดยในประเทศไทยมีรายงานผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน คิดเป็นร้อยละ 7.96 ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ เป็นปัญหาใหม่ เป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติตัวใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การคิดค้นวัคซีนในการป้องกันโรคร้ายตัวนื้ จึงเป็นเรื่องใหม่ที่มิอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้รับยาได้ง่ายมาก ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ หล่อหลอม แตกตัว กลายพันธุ์ของไวรัสร้ายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ได้อย่างต่อเนื่องสิ่งนี้ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคของมนุษย์ในการพยายามคิดค้นวัคซีนตัวใหม่ให้สามารถเอาชนะภัยคุกคามที่กลายพันธุ์เหล่านี้ไปให้ได้ไม่สิ้นสุด
ความพยายามของทุกชีวิตจึงต้องดำเนินต่อไปเพื่อความอยู่รอด การต่อสู้ระหว่างกันจึงไม่อาจคาดเดาจุดจบของสงครามครั้งใหม่นี้ได้ หากแม้ว่ามนุษย์จะสามารถกำราบไวรัสตัวนี้ได้ ก็คงหยุดยั้งได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และช่วงเวลานั้น คือช่วงเวลาของการรอเวลาในการฟักตัว ต่อเติมศักยภาพใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้สามารถยืนหยัดเผ่าพันธุ์ของตนเองให้ได้ต่อไป และการกลับมาครั้งใหม่ของสิ่งมีชีวิตตัวนี้ หรือเผ่าพันธุ์ใหม่นี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ศักยภาพในการทำลายล้างของมันต้องรุนแรง แข็งแรงกว่าเดิม ด้วยมันต้องเอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่เคยทำให้มันพ่ายแพ้
และการต่อสู้ในทำนองนี้ ก็สามารถเทียบเคียงได้ในเวทีปลายด้ามขวาน ที่ทุกวันนี้ ดูประหนึ่งว่า ฝ่ายขบวนการเห็นต่างจากรัฐ ได้ถูกยาปฏิชีวนะของรัฐในการหยุดยั้งกระแสของการต่อสู้ลงได้อย่างเห็นได้ชัด เหตุร้ายรายวันได้ลดน้อยถอยลงจนแทบหมดสิ้นไป พลังอำนาจในการขับเคลื่อนการแบ่งแยกผู้คนแทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย หากแต่แท้ที่จริงแล้ว เวทีของสนามต่อสู้ในเวลานี้ กลับเคลื่อนย้ายไปสู่สนามรบที่คนระดับแกนนำขบวนการเห็นแล้วว่า เป็นสนามต่อสู้ที่พวกเขาจะยังคงต่อสู้เพื่อเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้
สันติภาพตามแนวทางของสันติวิธี ล้วนเป็นคำสวยหรูที่ฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้ ใช้เป็นวาทกรรมในการต่อสู้กับรัฐมาอย่างยาวนาน ผ่านกระบวนการของภาคประชาสังคมที่มีมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสำคัญคือ ยุทธศาสตร์การได้มาซึ่งเป้าหมายในการปกครองดูแลกันเองโดยไม่ต้องใช้อาวุธอย่างที่พยายามทำกันมาในอดีต การต่อสู้ทางความคิดผ่านกระบวนการภาคประชาสังคมในพื้นที่กลับมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นขึ้น ภาพแห่งความสงบสันติ จึงเป็นภาพที่รัฐไม่อาจหลงระเริงในความสำเร็จได้ เพราะในระหว่างที่ยาปฏิชีวนะและวัคซีนที่ค้นพบของรัฐ กำลังส่งผลให้ไวรัสร้ายในพื้นที่ดูจะหยุดยั้งลงได้ หากแต่ห้วงเวลานี้ เป็นห้วงเวลาของการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ของขบวนการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่พวกเขาไม่อาจแข็งขืนก้าวเดินตามแนวทางเดิมต่อไปได้ และห้วงเวลาแห่งความสงบราบเรียบนี้ กลับเป็นห้วงเวลาสำคัญในการหล่อหลอมฟูมฟักพละกำลังในการต่อสู้ครั้งใหม่ รอเวลาที่จะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม