ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] เป้าหมายหลักของประเทศไทย 4.0 หรือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีรายได้มากกว่าเดือนละ 30,000 บาท หรือประมาณ 400,000 บาทต่อปี โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรือ ประเทศโลกที่ 1 การปฏิรูปประเทศจึงถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญกับทั้งมีคณะปฏิรูปประเทศร่างรูปแบบส่งต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตาม พรบ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 รวม 11 คณะ ครอบคลุมการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติทั้งด้านความมั่นคงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องด้านยุทธศาสตร์ยังได้ปรับระบบโครงสร้างงบประมาณออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ หน่วยงานหลัก (Function) วาระแห่งชาติ (Agenda) และกลุ่มจังหวัด (Area) เพื่อให้งบประมาณสมดุลกับโครงการที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ โดยเน้นความร่วมมือเชิงบูรณาการร่วมกันให้เกิดโครงการประชารัฐ เป็นหัวใจในการพัฒนาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ดูเหมือนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับสวัสดิการให้แก่คนยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท จนถึง 100,000 บาท ต่อปี ซึ่งมีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไว้ถึงมากกว่า 14 ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องฟื้นฟูให้เห็นผลโดยเร็ว รัฐบาลจึงได้ทุ่มแนวทางการพัฒนา SMEs ทั้งระบบและทุกระดับ ตั้งแต่การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ (Start up) ระดับต้องพัฒนาศักยภาพ (Turn around) และระดับศักยภาพสูง ( Rising Star) ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิต การตลาด และด้านการเงินอย่างขนานใหญ่ โดยการนำเอามหาวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้ กองทุนหมู่บ้านก็ยังเพิ่มเติมให้อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ชาวบ้านต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้อีกทาง ที่สำคัญได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดแต่ละภาคว่าจะเข้าสู่บริบทการพัฒนาในส่วนใด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของจังหวัดให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต พร้อมๆกับการระดมงบประมาณเข้าสู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ โดยการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งชาติแก่ผู้มีรายได้น้อยอย่างน้อย 12 ล้านคนที่จะได้รับ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซื้อของจากร้านธงฟ้าได้เดือนละ 200 – 300 บาท ซื้อก๊าซหุงต้มลดราคา 45 บาท/ 3 เดือน 2. ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ต่อปี วงเงิน 500 บาท สำหรับรถเมล์/รถไฟฟ้า วงเงิน 500 บาท สำหรับรถโดยสาร บขส. วงเงิน 500 บาท สำหรับรถไฟ การจัดรัฐสวัสดิการเช่นนี้ อาจจะมองกันไปว่าเป็นประชานิยมแต่เป็นประชานิยมที่ประชาชนได้ประโยชน์ รัฐไม่เสียหายเหมือนกับโครงการ “จำนำข้าว” ที่มีบทเรียนมาแล้ว เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความทุกข์สุขของประชาชน หากรัฐจะมีสวัสดิการอื่นใด โดยใช้ภาษีอากรของประชาชนมาคืนกลับให้ น่าจะเป็นอานิสงส์ที่ควรสนับสนุนทุกรัฐบาล เพราะเป้าหมายอยู่ที่คนมีรายได้น้อยและคนยากจน ตามนโยบายหลักของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โครงการรัฐสวัสดิการคงทะยอยออกมาเรื่อยๆ รวมถึงโครงการบ้านและที่อยู่อาศัยราคาประหยัดสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นนโยบายที่ประชาชนเขารอโอกาสนี้มานานมากแล้ว หากรัฐไม่เข้ามาดูแลจะมีแต่หนี้เพิ่มมากขึ้น โอกาสลืมตาอ้าปากแทบจะไม่มี เอาเพียงแต่ไม่ให้มีหนี้เพิ่ม ประชาชนเขาก็พอใจแล้ว