การขยับขับเคลื่อนขบวนปฏิรูปประเทศนั้น ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างช้าๆ จนทำให้หลายฝ่ายจับตา โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ วุฒิสภาได้พิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน 2563 ของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา เป็นประธาน พบว่า มีการดำเนินการใน 3 ด้านที่ล่าช้าที่สุด คือ ด้านการเมือง ด้านกฎหมายและด้านกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม กระบวนการปฏิรูปประเทศ มี 13 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ใน 6 ประเด็นด้วยกัน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เผยเพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ถึงแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ได้แก่ (1) การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในระดับแผนให้ชัดเจน สามารถวัดผลการดำเนินการได้ (2) การปรับตัดกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นภารกิจปกติของหน่วยงานและคัดเลือกเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) (3) การทบทวนกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ โดยคัดเลือกเฉพาะกฎหมายที่มีความสำคัญ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของการเสนอกฎหมาย (4) การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศ (5) พิจารณาความเห็นของหน่วยงานรับผิดชอบตามแผนการปฏิรูปประเทศ และ (6) ปรับเค้าโครงของแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านให้เป็นรูปแบบเดียวกัน “การปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าว สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเร่งด่วนและดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงาน สามารถดำเนินการและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2564 - 2565” น.ส.ไตรศุลี กล่าวรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บูรณาการและมีความเป็นเอกภาพ ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณผลักดันการปฏิรูปประเทศแล้ว กลไกและฟันเฟืองต่างๆ ก็จะต้องเคลื่อนตามไปด้วย เพื่อแก้ปัญหาของประเทศที่หมักหมมและสั่งสมมานาน