รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โควิด-19 นอกจากจะเป็นตัวเร่งทำให้คนในสังคมต้องปรับตัวในหลากหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การทำงาน การเรียน หรือการดูแลสุขภาพของตนเองแล้ว โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ “ครอบครัว” ที่จะต้องปรับตัวและพยุงสถานะของครอบครัวให้อยู่รอดให้ได้
ข่าว “ปัญหาครอบครัว” ตามสื่อต่าง ๆ มีให้เห็นบ่อยครั้ง และยิ่งหลังจากโควิด-19 เข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา ปัญหาครอบครัวก็ยิ่งขยายออกและเห็นภาพของปัญหาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ครอบครัวแตกแยก เพราะสามีภรรยาแอบคบกับคนอื่น
แม่ค้าออนไลน์ คิดสั้นเผาตัวเองเพราะเครียดปัญหาครอบครัว
เด็กหญิงต้องรับกรรม พ่อแม่แยกทางกัน
ผัวเมียทะเลาะกัน ปมเราชนะ-จำนำมือถือ เจ้าหนี้บุกทวง เมียน้อยใจเดินลงคลอง
ลูกไม่มีสมาธิเรียนออนไลน์ แม่เรียกทำงานบ้าน
ฯลฯ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างปัญหาครอบครัวที่พบตามหน้าสื่อต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจพังแล้ว ยังกระทบต่อปัญหาของครอบครัวไทยอีกด้วย
เพราะเรื่องเศรษฐกิจคือเรื่องปากท้องของประชาชน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนก็ไม่มีรายได้ ความเครียดความกดดันก็เกิดขึ้น ครอบครัวจึงระส่ำระสาย!
ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็พบว่าโควิด-19 นั้นเป็นเหตุให้คนญี่ปุ่นมีอัตรา ฆ่าตัวตายสูงขึ้น หรือในเกาหลีใต้ อัตราการเกิดใหม่ของเด็กก็ลดลง เพราะความเครียดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ
ก่อนหน้าจะมีโควิด-19 เศรษฐกิจโลกก็ใช่ว่าจะดี เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา ประชาชนก็ยิ่งวิตกกังวลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวยิ่งกว่าเดิม
ปัญหาครอบครัวนั้นจึงเป็นปัญหาที่ทุกชาติทุกภาษาต่างประสบพบเจอ ครอบครัวไทยเราเองก็พบปัญหาไม่น้อยเช่นกัน ข่าวที่ยกตัวอย่างนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของเรื่องราวของครอบครัวไทยเท่านั้น
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณี “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” สำรวจในหลากหลายประเด็นเพื่อดูมุมมองของคนไทยที่มีต่อครอบครัวไทยใน ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่
ประการที่ 1 ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวในภาพรวมที่พบเห็นมากขึ้น คืออะไร เช่น ปัญหาการเลิกรา หย่าร้าง สมาชิกในครอบครัวตกงาน ว่างงาน การทะเลาะเบาะแว้ง การนอกใจ ฯลฯ
ประการที่ 2 ในยุคโควิด-19 หากมองในแง่บวก ครอบครัวของท่านเป็นอย่างไร เป็นการถามเพื่อหามุมมองเชิงบวกที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับทุกครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ
ประการที่ 3 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวไทย เพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง เช่น การเดินทางท่องเที่ยว การทำงาน การเรียน การกินข้าวนอกบ้าน การซื้อของออนไลน์ รายได้ หนี้สิน ฯลฯ
ประการที่ 4 ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับครอบครัว คืออะไร
เอาเป็นว่าผลโพลในประเด็นเหล่านี้ น่าจะช่วยฉายให้เห็นภาพของ “ครอบครัวไทย” ในยุคโควิด-19 ได้บ้างไม่มากก็น้อย
รอติดตามผลโพลกันนะครับในวันอาทิตย์นี้!!