แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายด้วยหลายประเทศได้รับวัคซีนต้านโควิดและเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้กึ่งปกติมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยก็เริ่มฉีดวัคซีนล็อตแรก ของซิโนแวคแล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติโควิด สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม และอาจสร้างปัญหาในระยะยาว
“โลกได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และต่อหลายชีวิตมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเกือบทั้งโลกต่างก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งผลกระทบนี้ใหญ่กว่าที่โลกเคยเผชิญมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพจิต" นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวและคาดการณ์ว่า ผลกระทบนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี
ขณะที่แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าแผนกโรคอุบัติใหม่ของ WHO เป็นห่วงปัญหาด้านสุขภาพจิต จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาว ซึ่งรัฐบาล ชุมชน และครอบครัวควรให้ความเอาใจใส่มากขึ้น
สำหรับประเทศไทย พิษโควิดส่งผลกระทบให้คนไทยอยู่ในภาวะของความเครียด จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ประสบปัญหา ภาวะตกงาน และการต้องอยู่แต่ภายในบ้าน
สะท้อนจากข้อมูลที่นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิติประชาชนโทรศัพท์มาสายด่วน 1323 เพื่อรับฟังคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิตในเรื่องโควิด-19 จะสูงมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค โดยเดือน มีนาคม 2563 ที่เริ่มแพร่ระบาดมีตัวเลขอยู่ที่ 600 ครั้งต่อเดือน เดือน เมษายน สถิติลดลงไป เพราะมีการงดเทศกาลสงกรานต์ งดขายแอลกอฮอล์ จึงอยู่ที่ 539 ครั้ง ส่วนเดือน พ.ค. ตัวเลขคนมาปรึกษาเรื่องโควิดสูงถึง 687 ครั้ง ก่อนที่จะเริ่มลดในเดือน ตุลาคมจนกระทั่งเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา สถิติเก็บถึงสัปดาห์แรกพบว่ามีคนโทรฯ มาขอคำปรึกษา 48 รายด้วยกัน ซึ่งอิงกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่สูงมากขึ้น
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ปี 2562 ว่าคนจะมีความเครียดและฆ่าตัวตายสูงมากในหลายปีนี้ จึงเปิดคู่สายเพิ่มขึ้น 2 เท่า และเห็นว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนฉีดอย่างทั่วถึงประชาชนในประเทศ 50-60% จนกว่าจะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ เพราะมีคนได้รับวัคซีนมากพอ จนเชื้อโรคไม่สามารถติดต่อกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ขอย้ำสำหรับคนที่เครียดกับโรคว่า มันจะหายไปเมื่อไหร่ ขอชี้แจงว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ไม่มีวันรู้ว่าจะหายไปตอนไหน ถามใครก็ตอบไม่ได้ บางโรคระบาดหายไปเองเฉย ๆ ก็มี ดังนั้นจึงไม่แน่นอน แต่ตอนนี้เราต้องระวังโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในอังกฤษ แล้วไม่รู้ว่าวัคซีนที่ผลิตทดลองออกมาจะใช้ได้หรือไม่
“ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ คือต้องอยู่กับปัจจุบัน ต้องป้องกันตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อยสุดในการติดเชื้อ เราอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้เสี่ยงน้อยที่สุดได้” โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าแม้คนไทยหลายคนจะเข้าสู่การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การบำบัดรักษา แต่ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ในภาวะเครียด มีปัญหาสุขภาพจิตดดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแล้วแต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว และอาจเป็นปัยหาในอนาคต จึงต้องอาศัยทุกหน่วยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นครอบครัว ชุมชน เพื่อนร่วมงาน ช่วยกันเป็นหู เป็นตา สอดส่องใส่ใจกันและกัน
เพราะในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้จุดจบ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป การช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองเพื่อต่อสู้ในสงครามนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งภูมิคุ้มกันทางกาย และภูมิคุ้มกันทางใจ เพื่อชัยชนะในอนาคต