ขณะนี้การส่งออกของประเทศไทยและธุรกิจการท่องเที่ยวประเทศไทย อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังรู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่ดี
มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้มันหมักหมมสะสมมายาวนาน หลาย ๆ รัฐบาล
เราเคยเสนอมาสิบกว่าปีแล้วว่า หากเดินตามแนวทางของ “เศรษฐกิจกระแสหลัก” คือเดินตามทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ของมหาอำนาจทุนนิยมอย่างเดียว ไม่เพิ่มอัตราส่วนของ “เศรษฐกิจทางเลือก” ให้มากขึ้นในสังคมไทย จะทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ชนชั้นนำส่งเสริม ขยาย “เศรษฐกิจทางเลือก” น้อยเหลือเกิน แม้ว่าจะมีการเชิดชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถึงขั้นบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม
ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ ของทุกรัฐบาลก็ยังคงเหมือนเดิม คือมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี หรือที่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ทางด้านเกษตรกรรมก็เน้นไฮเทค- ฟาร์มใหญ่ เพียงแต่ตกแต่งหน้าตาด้วยคำว่า “ประชารัฐ” แต่แก่นแท้ก็ยังหลงอยู่กับ “เศรษฐกิจกระแสหลัก”
รัฐบาลเมื่อ พ.ศ 2549 เสนอว่า อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัว ไทยจะต้องหันไปเน้นอุตสาหกรรมระดับกลางและบน ที่เน้นเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของคน พุ่งเป้าหมายไปที่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี มุ่งเทียบระดับกับกาหลีใต้และสิงคโปร์
มาวันนี้รัฐบาลนี้ก็ชูเรื่อง ก้าวให้พ้นกับดักประเทศรายได้ต่ำ มุ่งสร้างอุตสาหกรรมไฮเทคในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเศรษฐกิจออนไลน์
แต่รายได้พลเมืองจะยกระดับได้อย่างไร ถ้าสินค้าการเกษตรในตลาดโลกยังราคาต่ำ อุตสาหกรมต่อยอดจากการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น
รัฐทุ่มเทแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมเพียงพอหรือไม่ ?
เราเห็นว่า ยังไม่เพียงพอ
เศรษฐกิจของพลเมืองจะเข้มแข็งมั่นคงยาวนาน สนองตอบความต้องการที่จำเป็นของพลเมืองได้ดี ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจของชาติดำเนินไปอยางได้สมดุล
เศรษฐกิจที่สมดุลคือต้องกระจายการพัฒนาของทุก ๆ ภาคส่วนเศรษฐกิจอย่างสมดุล
เศรษฐกิจไทยไม่สมดุลมานานแล้ว เราปล่อยให้ “ทุน” ทำร้ายภาคการเกษตรมากเกินไป เกษตรกรรายย่อยยากจนลงเรื่อย ๆ อันทำให้ “ตลาดภายใน” ของประเทศอ่อนแอ ไม่สมดุลกับภาคอุตสาหกรรม ที่ก็พึ่งพาแต่การส่งสินค้าออก ยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเข้มแข็ง ไทยขายสินค้าส่งออกได้มาก แต่รายได้นั้นกระจายไม่ถึงเกษตรกรรายย่อย ยามเมื่อเศรษฐกิจโลกวิกฤติ เศรษฐกิจไทยก็ล้มเสมอ
สังคมไทยเข้มแข็งด้านการผลิตสินค้าเกษตร แต่อ่อนแอมากด้านอุตสาหกรรมต่อยอดสินค้าเกษตร หากไม่เร่งรีบแก้ไขจุดนี้ จะเกิดวิกฤติรายได้ของพลเมืองในไม่ช้านี้